กระบองเพชร ไม้อวบน้ำ สกุล และสายพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย ดูแลไม่ยาก เหมาะกับมือใหม่


สำหรับมือใหม่ ที่ต้องการเริ่มหัดเลี้ยง กระบองเพชร ( แคคตัส ) แนะนำให้เริ่มปลูกจากสกุล หรือชนิดที่ดูแลได้ง่ายก่อน เริ่มจากชนิดที่ราคาไม่สูงมาก ดูแลง่าย เพื่อเป็นการค่อยๆ ศึกษาวิธีการเลี้ยง ขยายพันธุ์ รักษาโรค หรืออาการป่วย และสภาพแวดล้อมในการปลูกให้เหมาะสม ให้มีความชำนาญ

สกุล แมมมิลลาเรีย ( Mammillaria ) ในภาพเป็น นิโวซา ( M. nivosa ) หรือเรียกกันว่า แมมเข็มทอง แมมหนามทอง หนามสีทองเป็นหนามแข็ง หนามคม ติดดอกง่าย ดอกเล็กๆ ออกรอบวงของต้น ดอกสีขาว มีดอกออกเรื่อยๆ สามารถติดฝักได้เอง โดยไม่ต้องผสม ชอบแดด 70-80% หากเลี้ยงได้แดดดี ต้นจะฟอร์มกระชับ หนามถี่และแน่น สีทองสวยงาม ในระหว่างช่องตุ่มหนามจะมีปุยขาว หากไม่แยกหน่อไปปลูกก็จะเป็นไม้ฟอร์มกอโต

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด และการชำหน่อ สามารถเด็ดหน่อ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


สกุล โอพันเทีย ( Opantia ) ในภาพเป็น ไมโครดาซิส ( O.microdasys ) หรือที่เรียกันว่า หนูกระต่าย, เสมาเงิน, หูกระต่ายขาว ลักษณะมีตุ่มขนหนามขนาดเล็กกระจายตัวออกมาเป็นกลุ่ม ซึ่งขนหนามนี้ต้องระวังไม่ควรใช้มือสัมผัสโดยตรงเพราะจะติดกับผิวหนังและทำให้เกิดการระคายเคืองได้ ชอบแดด 80-100% หากได้รับแสงแดดเพียงพอ ขนหนามจะยิ่งฟูแน่น ใบกลมไม่ยืดยาว

การขยายพันธุ์ : ใช้การปักชำ สามารถเด็ดใบ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกใบ แตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


สกุล แมมมิลลาเรีย ( Mammillaria ) ในภาพเป็น ไซเดียนา ( M.schiedeana ) หรือที่เรียกันว่า แมมขนนกเหลือง ขนหนามเป็นกระจุก และบานออก ขนหนามมีความอ่อนนุ่มไม่แหลมคม สีขนหนามมีความเข้มอ่อนต่างกันตามแต่ที่ผสมพันธุ์กันมา ดอกเล็กๆออกรอบวงของต้น ดอกออกเรื่อยๆ ทุกฤดู แต่จะมากเป็นพิเศษในฤดูหนาว สีของดอกมีหลายหลายสี ที่พบบ่อยคือ สีขาว และชมพู ส่วนสีออกชมพูอมแดง หรืออมม่วงนั้นจะพบได้ยากกว่า เมื่อโต และไม่ได้แยกหน่อไปปลูก จะเป็นฟอร์มกอ หัวกลมขนาดไม่ใหญ่มากแตกออกเป็นพุ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ชอบแดด 80-90% หากต้องการให้ได้ฟอร์มกลมสวย ต้องเลี้ยงให้ได้รับแสงแดดยาว นาน 6-8 ชม.ต่อวัน ไม่ค่อยชอบชื้น เว้นการรดน้ำได้นาน กว่ากระบองเพชรชนิดอื่นๆ

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด และการชำหน่อ สามารถเด็ดหน่อ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


สกุล ยิมโนคาไลเซียม ( Gymnocalycium ) ในภาพเป็น มิฮาโนวิชิอาย ( Minanovichii ) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า ยิโนมิฮา ต้นพื้นฐานจะมีสีเขียว และมีที่เป็นไม้ด่าง หากเป็นมือใหม่การเลี้ยงไม้เขียวจะง่ายกว่าการเลี้ยงไม้ด่าง ยิมโนจะชอบความชื้นมากกว่ากระบองเพชรสายพันธุ์อื่นๆ แดด 60-80% ผิวไม้จะเขียวสวยกว่าการเลี้ยงแดดแรง สามารถเลี้ยงแดดแรงได้ หรือเลี้ยงตามธรรมชาติแบบแดด100% ฝน100% แต่ผิวของไม้อาจจะไหม้แดดง่าย หรือผิวกร้านไม่เขียวใส จะมีดอก และหน่อ งอกตามตุ่มหนาม ดอกจะออกมาในช่วงฤดูร้อน ดอกหลักๆ มี 2 สี คือ ขาว และชมพู แต่จะมีหลากหลายโทนและเฉด

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด และการชำหน่อ สามารถเด็ดหน่อ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


สกุล อิชินอปซิส ( Echinopsis ) ในภาพเป็น ซับเดนูดาตา ( E.subdenudata ) เป็นแคคตัสที่เลี้ยงได้ง่าย ชอบชื้นแต่ไม่แฉะ อากาศถ่ายเทดีอยู่ได้ทั้งแดด 60% จนถึงเลี้ยงกลางแจ้งแดด 100% แต่ถ้าหากเลี้ยงแดดแรงต้องหมั่นรดน้ำ เพราะหากขาดน้ำต้นจะซีดเหลืองไหม้แดดได้ง่าย เป็นไม้ที่แตกกอ แตกหน่อยได้ง่ายเมื่ออายุถึงวัย ดอกสีขาวใหญ่ มีกลิ่นหอมอ่อน สดชื่นๆ เมื่อดมใกล้ๆ ดอกจะบานในตอนกลางคืน และโรยในตอนเที่ยง

การขยายพันธุ์ : ชำหน่อ สามารถเด็ดหน่อ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


กระบองเพชรทั้งหมดนี้ใช้วัสดุปลูกเหมือนกัน แตกต่างกันตรงการให้น้ำ และแสงแดดที่ต้องการ วัสดุปลูกควรเป็น ดินกระบองเพชร โดยเฉพาะ เพราะจะมีคุณลักษณะเครื่องปลูกที่โปร่ง และระบายน้ำ ความชื้น ในการปลูกควรรองก้นกระถางเพื่อให้ดินระบายความชื้นได้ดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

• วัสดุที่ใช้ปลูก ไม้อวบน้ำ กระบองเพชร (แคคตัส) มีอะไรบ้าง ใช้ทำอะไรบ้าง?? >> คลิก <<
• ขั้นตอนง่ายๆ ในการปลูก หรือเปลี่ยนกระถาง แคคตัส กระบองเพชร ไม้อวบน้ำ >> คลิก <<
• การให้น้ำ รดน้ำ กระบองเพชร ( แคคตัส ) ไม้อวบน้ำ ควรให้ ยังไง ปริมาณเท่าไหร่?? >> คลิก <<