วัสดุโรยหน้ากระถาง กระบองเพชร ( แคคตัส ) ไม้อวบน้ำ ใช้อะไรได้บ้าง? แต่ละวัสดุมีข้อดีเสียยังไง?


ในการปลูกกระบองเพชร หรือไม้อวบน้ำ วัสดุใช้โรยหน้ากระถางนั้นมีความจำเป็น เพราะจะช่วยประคองต้นตั้งตรง ไม่ล้มง่าย ในธรรมชาติ กระบองเพชร จะแทรกตัวในดิน หรือซอกหิน เป็นการประคองต้นแบบธรรมชาติ และการโรยวัสดุ หรือหิน ยังช่วยให้ดินไม่กระเด็นเวลารดน้ำ ด้วยดินกระบองเพชร จะมีลักษณะเบาร่วนซุย ไม่จับตัวจะทำไห้ดินไหล หรือกระเด็นเมื่อโดนน้ำได้

มีวัสดุหลากหลายแบบ ให้เลือกใช้ตามความชอบ ซึ่งแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติ แตกต่างกันไป ทั้งเรื่องประโยชน์ ข้อดี และเสีย

ดินญี่ปุ่น อคาดามะ ( Akadama Soil )

ลักษณะของวัสดุ : เป็นเนื้อดินที่นำไปผ่านการอบที่อุณหภูมิสุง ดินจับตัวเป็นเม็ด เนื้อแข็งปานกลาง แตกง่าย เมื่อใช้มือบีบ สีของดินเปลี่ยนเมือโดนน้ำ ทำให้สังเกตความชื้นในดินได้ง่าย สีเป็นธรรมชาติ สวยงามเมื่อนำมาตกแต่ง มีแร่ธาตุในตัว
ความคงทน : เปี่อยยุ่ย ตามอายุการใช้งาน หากโดนน้ำบ่อย สถานที่ปลูกความชื้นสูง ก็จะทำเนื้อดินสึกกร่อนได้ง่าย นำกลับมาใช้ซ้ำยาก
การกักเก็บความชื้น : ช่วยเก็บความชื้นพอประมาณ ตัวดินแห้งง่ายไม่อมน้ำมาก
ราคา : เป็นสินค้านำเข้า ราคาค่อนข้างสูง

หินภูเขาไฟสีดำ หินลาวาดำ ( Black Volcanic Stone )

ลักษณะของวัสดุ : เป็นเนื้อหินที่มีความโปร่งพรุนสูง ลักษณะเนื้อหินมีความสาก ร่วน เนื้อค่อนข้างแข็ง ขนาดเม็ด จะไม่ค่อยสม่ำเสมอกัน เป็นก้อน หรือละเอียดบ้าง สีของหินเปลี่ยนเมือโดนน้ำ มีแร่ธาตุในตัว
ความคงทน : มีความคงทนสูง ใช้งานได้นาน แต่เมื่อใช้ไปนานๆ อาจจะเป็นคราบขาวจากตะกอนน้ำได้ (ซึ่งไม่มีผลต่อการเจริญเติบโต)
การกักเก็บความชื้น : หินแห้งง่าย ไม่เก็บความชื้นนาน หากเป็นไม้ที่ปลูกกลางแจ้ง หรือโดนฝน ก็จะทำให้ดินในกระถางแห้งเร็ว ไม่ทำให้โคนต้นเป็นคราบความชื้น นำกลับมาใช้ซ้ำยาก
ราคา : เป็นสินค้านำเข้า ราคาปานกลาง

ดินคานูมะ ( Kanuma Soil )

ลักษณะของวัสดุ : เป็นเนื้อดินนุ่ม แตก ยุ่ยง่าย มีแร่ธาตุในตัว สีเปลี่ยนเมื่อโดนน้ำ เนื้อดินเม็ด น้ำหนักเบา เวลารดน้ำต้องระวังกระเด็น หรือลอยตัวได้
ความคงทน : เปี่อยยุ่ย ตามอายุการใช้งาน หากโดนน้ำบ่อย สถานที่ปลูกความชื้นสูง ก็จะทำเนื้อดินสึกกร่อนได้ง่าย นำกลับมาใช้ซ้ำยาก
การกักเก็บความชื้น : เก็บความชื้นนาน แห้งช้า เหมาะกับไม้ที่ไม่ต้องการความชื้นเยอะ
ราคา : เป็นสินค้านำเข้า ราคาค่อนข้างสูง

หินภูเขาไฟ ( Pumice )

ลักษณะของวัสดุ : เป็นเนื้อหินที่มีความโปร่งพรุน ลักษณะเนื้อหินมีความสาก น้ำหนักเบา เวลารดน้ำต้องระวังกระเด็น หรือลอยตัวได้ สีของหินเปลี่ยนเมือโดนน้ำ มีแร่ธาตุในตัว เบอร์ที่ใช้โรยหน้ากระถางควรเป็นเบอร์ใหญ่
ความคงทน : เป็นวัสดุที่คงทน อายุการใช้งานนาน สามารถล้างแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำได้
การกักเก็บความชื้น : หินแห้งเร็ว ทำให้ดินไม่เก็บความชื้นนาน เหมาะกับไม้ที่ไม่ชอบความชื้น
ราคา : เป็นสินค้านำเข้า ราคาปานกลาง

หินกรวด หินเกล็ด ( Pebble Stone, Crushed Stone )

ลักษณะของวัสดุ : แข็ง น้ำหนักเยอะ มีหลากหลายสีสันตามธรรมชาติ หากเป็นหินกรวดแม่น้ำ เม็ดจะมีลักษณะกลมมน หากหินเกร็ดจะเป็นหินภูเขา ลักษณะเม็ดเป็นแเหลี่ยม ไม่มีแร่ธาตุในตัว
ความคงทน : เป็นวัสดุที่มีความคงทน นำมาล้างและ ใช้ซ้ำได้บ่อย
การกักเก็บความชื้น : ตัวหินไม่เก็บความชื้น แต่จะทำให้ดินในกระถางระบายความชื้นได้ช้า ด้วยตัวหินมีลักษณะแน่นทีบ หากขนาดยิ่งเล็ก จะทำให้เกิดความแน่นหน้าดิน และทำให้ดินแห้งช้า
ราคา : เป็นสินค้าที่มีแพร่หลายหาซื้อได้ง่าย ราคาย่อยเยาว์

เม็ดดินเผา เม็ดดินปั้น ( Popper , Clay Pebbles )

ลักษณะของวัสดุ : เป็นเม็ดกลม เนื้อค่อนข้างแข็ง เนื้อด้านในมีความพรุนสูง สีมีทั้ง น้ำตาล หรือดำ แล้วแต่ผู้ผลิต น้ำหนักเบา เวลารดน้ำต้องระวังกระเด็น หรือลอยตัวได้
ความคงทน : เป็นวัสดุที่คงทน อายุการใช้งานนาน สามารถล้างแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำได้
การกักเก็บความชื้น : ด้วยตัวของเม็ดมีลักษณะพรุน จึงทำให้กักเก็บความชื้นได้เยอะทั้งหน้าดิน และในกระถาง
ราคา : ราคาปานกลาง

กระบองเพชร สกุล โครีแฟนทา (Coryphantha) การเลี้ยง และดูแล


ลักษณะของต้น

เป็นกระบองเพชรที่มีจุดเด่นตรง หนาม ลักษณะของต้นเป็น เต้ากระจายรอบต้น ผิวของต้นสีเขียวเข้ม มีปุยขาวปกคลุมในช่วงระหว่างเตา แตกหน่อที่ปลายเตา หรือช่องระหว่างหน่อ สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยง และพบได้บ่อยคือ C.elephantidens ( ช้างแคคตัส ) ที่มาจากภาษาลาติน ที่แปลว่า ฟันช้าง ตามลักษณะของหนามหนา และใหญ่

ลักษณะของดอก

เป็นสายพันธุ์ที่ออกดอกได้เรื่อยๆ ตลอดทั้งปี ดอกมี 3 สี ชมพู เหลือง ขาว ที่พบบ่อยคือ สีชมพู ดอกใหญ่ สีกลีบ มันเงา กลีบดอกยาว จะเริ่มบานตั้งแต่สาย และบานเต็มทีในช่วงบ่าย ดอกหุบในตอนเย็น บาน 1- 2 วัน

การขยายพันธุ์

ผสมเกสร เมื่อติดฝักนำไปเพาะ ขยายพันธุ์ หรือใช้การเด็ดหน่อชำ

สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

สกุลโครีแฟนทา หรือที่ในบ้านเราเรียกกันว่า ช้างแคคตัส ชอบแดดจัด 75-90% อากาศถ่ายดีได้ไม่อับชื้น ยิ่งมีลมโกรก ก็จะช่วยป้องการเกิดโรคได้ดี สิ่งสำคัญคือ การวางต้น ควรมีการเว้นระยะไม่ให้แออัด แสงแดดส่องถึงได้ทั่ว ไม่เช่นนั้นจะผิวเสีย และเป็นโรคได้ง่าย ดินที่ปลูกต้องมีความโปร่ง ไม่เก็บความชื้นเยอะ ชอบน้ำมากว่าสายพันธุ์อื่นๆ หากต้องการให้ต้นโต เต้าใหญ่ แข็งแรง ต้องบำรุงด้วยปุ๋ย

โรค และศัตรูพืชที่พบบ่อย

ไรแดง, เพลี้ยหอย, เพลี้ยแป้ง, โรคจากแบคทีเรีย

ไอเดีย และวิธีจัดสวนถาดกระบองเพชร น่ารักๆ


รูปแบบการจัดสวนถาดกระบองเพชร ไม่ได้มีแบบ หรือกฎเกณฑ์ตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับจิตนาการของผู้จัด การจัดมีทั้งที่เป็นสวนจำลองเล็กๆ หรือเป็นการปลูกรวมเหมือนจัดแจกันดอกไม้ โดยในการเลือกต้นที่ใช้จัด มีคำแนะนำว่า ควรเลือกประเภทของต้นที่ชอบแดด และน้ำใกล้เคียงกัน เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลต่อภายหลัง

ส่วนกระถางที่ใช้ปลูกควรมีรูระบายน้ำ และถ้าเป็นการปลูกในไทย ที่อากาศชื้นสูง ดินแห้งช้า ควรมีหิน หรือวัสดุที่มีความโปร่งรองก้นกระถาง เพื่อกันน้ำขัง และทำให้ต้นเน่าได้ง่าย

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ : ดินปลูกกระบองเพชร หินรองก้นกระถาง หินโรยหน้าตกแต่ง หินประดับ ตุ๊กตาตกแต่ง

การดูแลรักษา : ควรวางไว้ในที่มีแสงแดด หรือหากปลูกในที่ๆ แสงน้อย ควรต้องนำมาวางโดนแดดเพื่อให้ต้นไม้ได้สังเคราะห์แสง ถ้าหากเลี้ยงในที่ที่แสงน้อย ไม่ควรนำมาวางกลางแดดแรงเลย เพราะจะทำให้ต้น ปรับตัวไม่ทันจนช็อกแดด หรือต้นไหม้เป็นแผลได้ ควรเป็นแดดที่ความเข้มข้น 60-70% การให้น้ำ หรือรดน้ำ ให้เมื่อดินแห้ง และรดให้ชุ่มไปจนถึงราก เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นขาดน้ำ ไม่แนะนำให้ใช้ฟ็อกกี้ฉีดพ่น เพราะน้ำจะไปไม่ถึงราก อาจทำให้ต้นเหี่ยวหรือขาดน้ำได้

ขอบคุณภาพจาก : Pinterest

กระบองเพชร ตามธรรมชาติ เขาอยู่กันยังไง หน้าตาเหมือนแบบที่เรานำมาเลี้ยงกันไหม??


กระบองเพชร Cactus (แคคตัส) นั้นอาศัยอยู่ในพื้นแห้งแล้ง แทบทะเลทราย หรือเขตพื้นที่ร้อนชื้น มีถิ่นกำเนิดมาจากทางทวีปอเมริกาใต้ และแพร่หลายกระจายมาสู่แอฟริกา จนตอนนี้ได้มีเลี้ยง และกระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลก เป็นไม้ประดับที่ได้รับความนิยม และสร้างเป็นธุรกิจแพร่หลายไปในหลายประเทศ โดยมีประเทศที่เป็นนักพัฒนาสายพันธุ์ อันดับต้นๆ ของโลกคือ ญี่ปุ่น และไทย ซึ่งมี Breeder นักพัฒนาสายพันธุ์ ที่มีความสามารถมาก จึงทำให้กระบองเพชรจากสายพันธุ์หลัก แตกออกมามากมาย และมีรูปลักษณะหรือ หน้าตาที่หลากหลายมากขึ้น

จนบางทีหน้าตาที่อยู่ในธรรมชาตินั้นจะมีไม่หลากหลายเท่า ซึ่งกระบองเพชรในธรรมชาตินั้น จะมีรูปร่างผิวพรรณไม่ได้สวยงามเหมือนการนำมาเลีัยงดู เพราะต้นนั้นเป็นการอยู่รอดแบบธรรมชาติต้องทนแดด และอุณหภูมิที่สูง อาศัยน้ำจากฝน และน้ำค้างบ้าง ต้นจึงมีลักษณะซูบไม่อ้วนท้วนสมบูรณ์

ด้วยลักษณะรากของกระบองเพชรที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่ และหาอาหารบนหน้าดิน จึงทำให้พบเห็นต้นอยู่ตามซอกดิน หรือซอกหิน เพื่อช่วยในการประคองยึดเกาะต้น ซึ่งในธรรมชาตินั้นการที่เราพบกระบองเพชรนั้น บางสายพันธุ์ ต้นเขาจะฝั่งอยู่ในดินเป็นส่วนมาก และมีหัวโผล่มาด้านบนเล็กน้อย หรือหากไม่สังเกตดีๆ

การงอก หรือเกิด ก็เป็นการผสมพันธุ์จากแมลง หรือต้นที่มีหน่อหลุด ก็จะหน่อแตกกอ หากการผสมเกสรของดอกสมบูรณ์และติดฝัก ฝักที่สุกสมบูรณ์ก็จะปริแตก จนมีเมล็ดด้านในออกมา เมื่อมีฝนตก หรือความชื้นเหมาะสม ก็จะงอกขึ้นตามธรรมชาติ

ขอบคุณภาพ : Pinterest

ดอกของเจ้ากระบองเพชร Cactus (แคคตัส) เสน่ห์ที่ใครหลายคนโดนตกให้หลงรัก


นอกจากความสวยงามในรูปร่างหน้าตาที่แปลกตา และมีความหลากหลายของเจ้ากระบองเพชรแล้ว ก็มีใครหลายคนที่หลงเสน่ห์เวลาที่เขาออกดอก ด้วยความน่ารัก ที่เวลาเขาออกดอก ทำให้ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมบางคนถึงกับหลงรักแบบหัวปักหัวปรำ ซึ่งการที่กระบองเพชรจะมีดอกได้ นั้นมีปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่ต้องมาจากการเลี้ยงดู และสายพันธุ์ อายุ ฤดูกาล เป็นหลัก

หากใครที่ชอบชื่นชมดอกของเจ้ากระบองเพชร แนะนำให้เลี้ยงชนิดที่ ออกดอกได้บ่อย อาทิเช่น ตระกูล โลบิเวีย, แมมมิลลาเรีย, (บางชนิด) ยิมโนคาลิเซียม, โครีแฟนทา, รีบูเทีย

สิ่งสำคัญที่จะทำให้กระบองเพชร ออกดอกคือ แสงแดด และสารอาหารที่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักและสำคัญ รองลงมาคือ เทคนิคต่างๆ เช่น การอดน้ำในบางช่วงที่จะช่วยกระตุ้นให้เขาเข้าสู่สภาวะการเอาตัวรอด เพื่อขยายพันธุ์ ก็จะทำให้เขาออกดอกได้มาก และเยอะกว่าปกติ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง >> เลี้ยงกระบองเพชรยังไงให้ออกดอก ??

ขอขอบคุณที่มาภาพ : pinterest, google

วิธีดูรากกระบองเพชร (แคคตัส) รากแบบไหนดี หรือมีปัญหา


สาเหตุสำคัญในการเลี้ยงกระบองเพชรอีกอย่างที่เราไม่ควรมองข้าม หากต้องการให้ต้นสมบูรณ์แข็งแรง ก็คือ ระบบของราก ซึ่งเปรียบเสมือนกลไกหัวใจหลักของต้น ที่ทำหน้าที่ในการดูดซึมอาหาร และแร่ธาตุที่จำเป็นต่างๆ ไปเลี้ยงต้น หากรากมีคุณภาพดี ก็จะส่งผลที่ดีโดยตรงต่อต้น

แล้วอะไร?? ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้รากสมบูรณ์ คุณภาพดี

ปัจจัยหลักอย่างแรกคือ ดิน ที่เปรียบเสมือนเป็น บ้าน และห้องอาหาร ดินที่ดีควรมี แร่ธาตุ อากาศหมุนเวียน และระบบนิเวศในดินที่ดี กักเก็บความชื้นในเหมาะสมกับชนิดของต้น ซึ่งจะมีลักษณะเนื้อดินที่ร่วนซุ่ย ไม่เกาะตัวกันง่าย มีความชุ่มชื้น แต่ไม่แฉะ เมื่อรดน้ำทิ้งไว้สัก 1-2 วัน ดินจะต้องไม่เปียกชุ่ม หากเปรียบเปรยให้เห็นภาพ เหมือนผ้าที่ชุบน้ำแล้วบิด ดินจะมีลักษณะหมาดๆ แต่ไม่อมน้ำ เพราะถ้าหากดินแห้งติดต่อกันนานเกินไป อาจจะทำให้รากฝอยตาย หรือรากแห้งได้

ซี่งรากฝอยที่ทำให้การดูดซึม ความชื้น และแร่ธาตุ จะเป็นส่วนที่แห้งง่าย เมื่อปล่อยให้ดินแห้งเกินเป็นเวลานานก็จะทำให้รากส่วนนี้ตายได้ หรือในทางกลับกัน หากมีความชื้นเยอะ ซึ่งไม้อวบน้ำไม่ต้องการการความชื้นมาก รากฝอยก็จะเน่า

วิธีสังเกตเบื้องต้นได้ง่ายๆ จากหน้าดิน ว่ารากของต้นไม้มีปัญหาหรือไม่


คือ การสังเกตระยะเวลาการแห้งของดิน ( ในกรณีที่ใช้ดินญี่ปุ่นโรยหน้ากระถาง จะทำให้เห็นความชื้นในดิน จากสีของดินได้ง่าย ) หากต้นที่เรารดน้ำพร้อมๆ กัน ดินค่อยๆ ทยอย เริ่มแห้งแล้ว แต่จะสังเกตได้ว่า ต้นที่มีปัญหา ดินจะยังคงชื้นอยู่ตลอดเวลา อาจสันนิษฐานได้ว่า รากอาจมีปัญหา จึงทำให้การดูดซึมช้าลง

หรือสังเกตจากโคนต้นที่เริ่มยุบ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว หากได้รับน้ำเป็นปกติ แล้วตรงโคนต้นยังยุบ หรือย่นอยู่ นั่นอาจจะมีสาเหตุมาจากราก ซึ่งปัญหาที่พบได้บ่อย ก็คือ มีศัตรูพืช เช่นเพลี้ยแป้ง เกาะกินทำให้รากเสียหาย หรือต้นที่ไม่ได้รับการเปลี่ยนกระถางนาน รากแน่น เนื้อดินน้อยจนไม่สามารถเก็บความชุ่มชื้นได้

ซึ่งในการเปลี่ยนกระถาง จึงมีการแนะนำให้ตัดแต่งรากก่อนปลูก เพื่อกระตุ้นการเกิดรากใหม่ ที่จะมีประสิทธิภาพกว่า รากเดิมที่อาจจะเสื่อมสภาพ หรือเสียหายจากศัตรูพืช

แต่มีกรณียกเว้น หากต้นที่รากปกติ และเพิ่งเปลี่ยนดินมาไม่นาน แต่ต้นโตเร็ว และไม่อยากตัดรากให้ต้นชะงัก หรือต้องฟื้นตัวใหม่ ก็จะสามารถเปลี่ยนกระถางได้เลยโดยไม่ต้องตัดแต่งราก แต่ให้เว้นระยะ การรดน้ำแบบชุ่มในช่วงแรก แต่ให้โชยน้ำเพื่อรักษาความชุ่มชื่นในดินช่วงแรก ในระหว่างที่ต้นกำลังฟื้นตัว ประมาณ 7-12 วัน หลังจากสังเกตว่าระบบราก เซตตัวได้ดีแล้ว จึงรดน้ำตามปกติ

คำถามที่จะพบบ่อย ว่า แล้วหากต้นโคนยุบ จะต้องทำอย่างไร

หากเป็นการยุบไม่มากจาก รากที่เก่าเสื่อมสภาพ หลังจากตัดแต่งราก และลงปลูก จนต้นฟื้นตัว โคนต้นก็จะกลับมาเต่งตึงตามปกติ หากโคนยุบเยอะมากเท่าไหร่ก็ต้องใช้ระยะเวลาฟื้นฟูนานเท่านั้น อีกวิธีที่ใช้กระตุ้นรากให้งอกและฟื้นเร็ว คือการใช้ความชื้นมากขึ้นเพื่อล่อรากให้งอกด้วยวัสดุที่กักเก็บความชื้นได้ดีเช่น เม็ดดินเผา

บทความที่เกี่ยวข้องวิธีรักษา และอาการต้นเหี่ยว โคนยุบ ของแคคตัส (กระบองเพชร) >> คลิก <

ไม้อวบน้ำ สายพันธุ์ กุหลาบหิน ( Succulent ) การเลี้ยง และดูแล


ลักษณะของต้น

กุหลาบหิน ลักษณะของต้น จะคล้ายดอกไม้ มีทั้งเป็น ทรงกลม หรือเป็นพวงช่อยาว สีสันของต้น มีหลายเฉดสี ไม่ว่าจะออกเป็น เขียวอมฟ้า เขียวอมชมพู เขียวอมม่วง บนผิวใบจะมีลักษณะเป็น แป้งนวลสีขาว หรือเป็นที่เรียกกันว่า Wax เคลือบผิวใบ ที่เกิดจาการต้นสร้างขึ้นมาเอง เพื่อช่วยในการปกป้องผิวใบจากแสงแดด

ลักษณะของรูปทรงใบ มีแตกต่างไปตามสายพันธุ์มีทั้งที่เป็น ช่อกลุ่มใบเล็กๆ ทรงพุ่ม และเป็นช่อใบใหญ่ ใบและต้นมีลักษณะ อ่อน เปราะ หักง่าย รากจะเป็นรากฝอยๆ ขนาดเล็กกระจายทั่ว เมื่อต้นแก่จะมี ลำต้นจะแข็งขึ้น, หรือมีลักษณะเป็นโขด

ลักษณะของดอก

ลักษณะของดอกจะชูขึ้นมา โดยมีก้านดอกยาว และปลายดอกเป็น ดอกเล็กเรียงกัน หรือเป็นพวงยาวตามก้านดอก โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีดอกเมื่อต้อมีอายุมาก และหลังจากออกดอกต้นจะโรย และตาย ส่วนมากถ้าต้นมีดอกจะนิยมตัดทิ้ง เพื่อรักษาต้นไว้ไม่ให้ตาย

การขยายพันธุ์

สามารถ ชำกิ่ง, วางใบ. เพาะเมล็ด, แต่วิธีที่นิยมใช้ คือ วางใบ การวางใบจะทำให้ได้ต้นใหม่ที่แข็งแรง เพราะต้องใช้ระยะเวลา ในการปลูกดูแล และเติบโตต้นจะค่อยๆ งอก แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ และปรับสภาพกับอากาศได้ดี

สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

กุหลาบหิน เป็นไม้ที่ชอบอากาศเย็น และแสงแดด ตลอดวันโดยเป็นแดด ที่พรางแสงหรือแดด 70-80 เปอร์เซ็นต์

สามารถเลี้ยงกลางแจ้งได้ ในบางชนิด แต่ต้องค่อยๆ ใช้วิธีเทรนแดด ให้เขาปรับตัวกับแดดจัด แต่ข้อเสียในการเลี้ยงกลางแจ้ง คือ ด้วยสภาพอากาศประเทศไทย เป็นร้อนชื้น สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ร้อนจัด แดดแรง หรือ ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน จะทำให้กุหลาบหิน เป็นโรคป่วยได้ง่าย

ยกเว้นในบางพื้นที่ ที่มีอากาศเย็น และฝนน้อย อย่างภาคเหนือ หรือ อีสานตอนบนของประเทศ สามารถปลูกกลางแจ้งได้ ดีกว่า ด้วยสภาพอากาศที่เหมาะสม จะทำให้ต้นแข็งแรง ได้ฟอร์มสวยมากกว่า

ซึ่งในการเทรนแดด ต้องอาศัยเวลาในการให้ไม้ค่อยๆ ปรับตัวเพื่อจะสร้างใบใหม่ที่แข็งแรง และทนกับสภาพอากาศที่เลี้ยงปัจจุบันได้ดี

กุหลาบหิน ชอบดินที่โปร่งร่วนซุย สามารถใช้ดินลักษณะเดียวกับกระบองเพชรในการปลูกได้ รดน้ำเมื่อดินแห้ง รดจนออกก้นกระถาง แล้วทิ้งช่วงจนดินแห้ง หลังจากดินแห้ง 1-2 วัน จึงรดน้ำใหม่ หากสถานที่ปลูกอากาศถ่ายเทได้ดี ต้นจะไม่เป็นคราบน้ำ แป้งนวลก็จะไม่หลุด จนทำให้ใบดูด่างเป็นจุดขาวไม่สวยง่าย ในช่วงฤดูฝนควรต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะจะเกิดอาการเน่า โรคที่เกิดจากเชื้อราแบคทีเรียได้ง่าย

หากต้องการเลี้ยงให้ได้สี และฟอร์มสวย ไม่ควรใช้ปุ๋ยที่มี ไนโตรเจนสูง เพราะจะทำให้ใบเป็นสีเขียว มากกว่าสีสันสดใส ตามลักษณะของต้น หากเลี้ยงแสงแดดเพียงพอ ของต้นจะมี Wax ขาวปกคลุมผิวใบ และต้นสีสด ฟอร์มกระชับ

โรค และศัตรูพืชที่พบบ่อย

เพลี้ย, ไรแดง, โรครากเน่า, ไหม้แดด, ใบช้ำน้ำ, เน่าคอดิน

บทความที่เกี่ยวข้อง

• การวางใบ ชำใบ เพื่อขยายพันธุ์ ไม้อวบน้ำ กุหลาบหิน ซัคคิวเลนท์ ( SUCCULENT ) >> คลิก <<

กระบองเพชร สกุล แอสโตรไฟตัม (Astrophytum) การเลี้ยง และดูแล


กระบองเพชร (แคคตัส) สกุล แอสโตรไฟตัม ( Astrophytum ) เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์กระบองเพชรที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย และมีการพัฒนาสายพันธุ์ อยู่เรื่อยๆ จนทำให้มีทรง และลวดลายแปลกตามากขึ้น

ลักษณะของต้น

ลักษณะที่โดดเด่นของต้นคือ ผิวสีเขียวเข้มสด ตัดกับลายบนต้นที่เป็นสีขาว ลวดลายมากมายแปลกตา ตามที่ได้พัฒนา และผสมพันธุ์ มีดอทปุย เป็นตุ่มขนขึ้นบนผิวต้น มีชนิดที่มีหนามและไม่มีหนาม แต่ที่นิยมและมีผู้เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์กันมากจะเป็นชนิดที่ไม่มีหนามอย่าง แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส ( A.asterias ) , แอสโตรไฟตัม ไมริโอสตริกมา ( A.myriostigma )



แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส มีการพัฒนาสายพันธุ์จากญี่ปุ่น จนทำให้เกิดลวดลายบนต้นที่แตกต่าง แตกย่อยอีกมากมาย โดยจะมีชื่อเรียกกันตามลักษณะ

KABUTO ( คาบุโตะ ) ลักษณะ : จะมีลวดลายขาวประปราย กระจายทั่ว ดอทต้นขนาดเล็ก เรียงตามเส้นพู ของต้น

• SUPER KABUTO ( ซูเปอร์คาบุโตะ) ลักษณะ : มีลายสีขาวหนา แน่น กว่าคาบุโตะปกติ ปื้นสีขาวมีลายหนา แปลกตา

• V-TYPE ( วีไทป์ ) ลักษณะ : มีลายสีขาวเป็นรูปตัวอักษรวี (V) เรียงไล่ตามดอท ตามแนวของพู หากต้นไม่มีลวดลาย เป็นสีเขียวและมีเพียงลายวี สีขาว จะเรียกว่า วีนูดัม ( V-Nudum )

• NUDUM ( นูดัม ) ลักษณะ : ผิวของต้นจะเกลี้ยงเขียว ไม่มีลาย หรือจุดสีขาวบนต้นเลย มีเพียงดอทปุย

• HANAZONO ( ฮานะโซโนะ ) ลักษณะ : มีดอทปุยเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วต้น มีลวดลายต่างๆ ไม่ซ้ำกัน ซึ่งดอทที่กระจายอยู่นี้ทำให้สร้างตาดอกได้หลายตำแหน่งมากกว่าปกติ จึงเป็นแอสโตรที่มีตำแหน่งการออกดอกได้ทั่วต้น ต่างกับแอสโตรปกติที่จะออกดอกที่ตุ่มหนามปลายยอดของต้น

• RENSEI ( เรนเซ ) ลักษณะ : ดอทปุย ตุ่มขน เรียงชิดติดกันมีลักษณะคล้าย “สร้อย” โดยปกติหากเป็น KABUTO ทั่วไป ดอทจะไม่เรียงชิดติดกัน จะมีระยะห่างระหว่างดอท

• OOIBO ( โออิโบะ ) ลักษณะ : ดอทปุย ตุ่มหนาม มีขนาดใหญ่กว่าปกติมาก และถ้าเป็นดอทที่ใหญ่กว่าปกติ และเรียงชิดกันเป็นสร้อย ก็จะเรียกว่า OOIBO RENSEI ( โออิโบะ เรนเซ )

• KIKKO ( กิ๊กโกะ ) ลักษณะ : ตุ่มหนามเป็นบั้ง และหยักเว้าเป็นร่องลึก และกว้างต่างกันไป มีลักษณะของสันพูที่แบ่งกันระหว่างแต่ละตุ่มหนาม คล้ายกับกระดองเต่า

• EKUBO ( คุโบะ ) ลักษณะ : มีรอยขีดสั้นๆ ขวาง ระหว่างพู หรือใต้ดอทหนาม เรียงตามพูคล้าย “ลักยิ้ม”

• FUKURYU ( ฟุคุริว ) ลักษณะ : ผิวยับย่น ขึ้นเป็นริ้วหยัก ซ้อนกันไป

• FUKURYO ( ฟุคุเรียว ) ลักษณะ : มีพูแทรกจากปกติ หรือพูเล็กๆ เหมือนติ่ง แทรกอยู่ในระหว่างพูใหญ่ปกติ

SNOW ( สโนว์ ) ลักษณะ : มีลาย หรือขนสีขาวขนาดติดกันเป็นปื้นใหญ่ จำนวนมากปกคลุมผิวของต้นแทนจะมองไม่เห็นสีเขียวของต้น

• STAR SHAPE ( สตาร์ เชฟ ) ลักษณะ : ลำต้นจะไม่กลมเหมือนแอสโตรทั่วไป จะมีความเว้าลึกระหว่างพู ที่เว้าไปจนถึงโคนต้น หากวางต้นหงายขึ้นจะเห็นรองระหว่างพูที่เว้าชัดเจน มองจากด้านบนลักษณะเหมือนดาว ต่างกับแอสโตรปกติที่เป็นลักษณะกลม

ส่วนที่เป็นแอสโตรไฟตัม ที่มีหนาม ได้แก่ แคปริคอร์น ( A.capricorne ), ออร์นาตัม ( A.arnatum ) เมื่อต้นยืนอายุมากต้นจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ลักษณะของดอก

ดอกมีเรื่อยๆ ในทุกฤดู แต่จะมากในฤดูร้อน ที่เหมาะเป็นการผสมพันธุ์ ดอกบานในช่วงเที่ยง-บ่าย และหุบตอนเย็น ดอกบาน 1-3 วันก็จะโรย เมื่อมีการผสมเกสรติดดอกจะปิดทันที มีดอกเป็นสีเหลืองส่วนใหญ่ แต่จะมีพบเป็นสีชมพู หรือชมพูโทนแดงได้ด้วย แต่จะค่อนข้างหายากกว่าสีเหลือง และจะมีชื่อเรียก ดอกสีชมพูโทนแดงว่า AKABANA ( อคาบานะ ) กลีบดอกปกติ จะยาวกว้าง ปลาย ขอบกลีบดอกเรียบ หากมีหยักหรือริ้ว จะเรียกว่า ดอกขนนก ซึ่งจะหาได้ยาก ดอกที่มีลักษณะแปลก และพบได้ยากอีกแบบคือ ดอกชินโชวะ ( Shinshowa ) ลักษณะของกลีบดอกจะเล็กเรียวเป็นเส้นฝอย

การขยายพันธุ์

ผสมเกสร ติดฝัก นำไปเพาะเมล็ด เป็นการผสมข้ามต้น และสามารถผสมข้ามชนิดกันได้ที่เป็นสกุลเดียวกัน เช่น แอสทีเรีย ผสมกับ ไมริโอสตริกมา ก็จะได้มาเป็นลูกผสม ที่มีลักษณะเด่นของทั้ง 2 ออกมาในรุ่นลูก ลูกผสมจะเรียกกันว่า Hybird (ไฮปริด)

สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

แอสโตร เป็นไม้ที่ค่อนข้างชอบชื้นกว่า กระบองเพชรทั่วไป ไม่ชอบแดดแรง หากเลี้ยงแดดจัดจะทำให้ผิวไหม้ง่าย หรือไม่เป็นสีเขียวใส เว้นแต่ในต้นที่มีลายขาวปกคลุมมาก หรือสโนว์ ที่จะทนแดดได้ดีกว่าไม้ที่มีผิวเขียวเยอะ ฉะนั้นการเลี้ยงจึงควรพลางแสง ด้วยสแลน หรือเป็นแดด 60-70% จะทำให้ไม้มีผิวที่สวยไม่กร้านแดด

ดินโปรงชื้น แต่ไม่แฉะ ดินไม่ชุ่มน้ำนาน ระบายความชื้นได้ดี รดน้ำเมื่อดินแห้ง ช่วงหน้าฝนต้องระวังไม่ให้ดินมีความชื้นมากเพราะจะเกิดคราบน้ำโคนต้น หรือโรคที่เกิดจากแบคทีเรียบางอย่างได้ เมื่อเกิดรอยแผลแล้วจะเป็นแผลตลอดรักษาไม่หาย นอกจากรอให้ต้นโต และผิวไล่ลงโคนต้น และเมื่อถึงระยะเปลี่ยนดิน หรือต้นโตคับกระถางควรเปลี่ยนดิน ขยายขนาดกระถาง เพื่อให้ต้นไม่ชะงักการโต หากปล่อยไว้นาน รากแน่น ความชื้นไม่พอจะทำให้โคนต้นยุบได้ง่าย และหากรากไม่มีการกระตุ้น หรืออ่อนแอ จะโดนโรค หรือศัตรูพืช รุ่มเร้าได้ง่าย

โรค และศัตรูพืชที่พบบ่อย

เพลี้ยแป้ง กัดกินราก และต้น, เพลี้ยญี่ปุ่น กินยอด , เพลี้ยหอย เกาะต้น, แคงเกอร์ เกาะ กัดกินผิว, หนู ที่ค่อยกัดกินต้น และกินฝักเมื่อผสมเกสรติด

กระบองเพชร ไม้อวบน้ำ สกุล และสายพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย ดูแลไม่ยาก เหมาะกับมือใหม่


สำหรับมือใหม่ ที่ต้องการเริ่มหัดเลี้ยง กระบองเพชร ( แคคตัส ) แนะนำให้เริ่มปลูกจากสกุล หรือชนิดที่ดูแลได้ง่ายก่อน เริ่มจากชนิดที่ราคาไม่สูงมาก ดูแลง่าย เพื่อเป็นการค่อยๆ ศึกษาวิธีการเลี้ยง ขยายพันธุ์ รักษาโรค หรืออาการป่วย และสภาพแวดล้อมในการปลูกให้เหมาะสม ให้มีความชำนาญ

สกุล แมมมิลลาเรีย ( Mammillaria ) ในภาพเป็น นิโวซา ( M. nivosa ) หรือเรียกกันว่า แมมเข็มทอง แมมหนามทอง หนามสีทองเป็นหนามแข็ง หนามคม ติดดอกง่าย ดอกเล็กๆ ออกรอบวงของต้น ดอกสีขาว มีดอกออกเรื่อยๆ สามารถติดฝักได้เอง โดยไม่ต้องผสม ชอบแดด 70-80% หากเลี้ยงได้แดดดี ต้นจะฟอร์มกระชับ หนามถี่และแน่น สีทองสวยงาม ในระหว่างช่องตุ่มหนามจะมีปุยขาว หากไม่แยกหน่อไปปลูกก็จะเป็นไม้ฟอร์มกอโต

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด และการชำหน่อ สามารถเด็ดหน่อ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


สกุล โอพันเทีย ( Opantia ) ในภาพเป็น ไมโครดาซิส ( O.microdasys ) หรือที่เรียกันว่า หนูกระต่าย, เสมาเงิน, หูกระต่ายขาว ลักษณะมีตุ่มขนหนามขนาดเล็กกระจายตัวออกมาเป็นกลุ่ม ซึ่งขนหนามนี้ต้องระวังไม่ควรใช้มือสัมผัสโดยตรงเพราะจะติดกับผิวหนังและทำให้เกิดการระคายเคืองได้ ชอบแดด 80-100% หากได้รับแสงแดดเพียงพอ ขนหนามจะยิ่งฟูแน่น ใบกลมไม่ยืดยาว

การขยายพันธุ์ : ใช้การปักชำ สามารถเด็ดใบ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกใบ แตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


สกุล แมมมิลลาเรีย ( Mammillaria ) ในภาพเป็น ไซเดียนา ( M.schiedeana ) หรือที่เรียกันว่า แมมขนนกเหลือง ขนหนามเป็นกระจุก และบานออก ขนหนามมีความอ่อนนุ่มไม่แหลมคม สีขนหนามมีความเข้มอ่อนต่างกันตามแต่ที่ผสมพันธุ์กันมา ดอกเล็กๆออกรอบวงของต้น ดอกออกเรื่อยๆ ทุกฤดู แต่จะมากเป็นพิเศษในฤดูหนาว สีของดอกมีหลายหลายสี ที่พบบ่อยคือ สีขาว และชมพู ส่วนสีออกชมพูอมแดง หรืออมม่วงนั้นจะพบได้ยากกว่า เมื่อโต และไม่ได้แยกหน่อไปปลูก จะเป็นฟอร์มกอ หัวกลมขนาดไม่ใหญ่มากแตกออกเป็นพุ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ชอบแดด 80-90% หากต้องการให้ได้ฟอร์มกลมสวย ต้องเลี้ยงให้ได้รับแสงแดดยาว นาน 6-8 ชม.ต่อวัน ไม่ค่อยชอบชื้น เว้นการรดน้ำได้นาน กว่ากระบองเพชรชนิดอื่นๆ

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด และการชำหน่อ สามารถเด็ดหน่อ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


สกุล ยิมโนคาไลเซียม ( Gymnocalycium ) ในภาพเป็น มิฮาโนวิชิอาย ( Minanovichii ) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า ยิโนมิฮา ต้นพื้นฐานจะมีสีเขียว และมีที่เป็นไม้ด่าง หากเป็นมือใหม่การเลี้ยงไม้เขียวจะง่ายกว่าการเลี้ยงไม้ด่าง ยิมโนจะชอบความชื้นมากกว่ากระบองเพชรสายพันธุ์อื่นๆ แดด 60-80% ผิวไม้จะเขียวสวยกว่าการเลี้ยงแดดแรง สามารถเลี้ยงแดดแรงได้ หรือเลี้ยงตามธรรมชาติแบบแดด100% ฝน100% แต่ผิวของไม้อาจจะไหม้แดดง่าย หรือผิวกร้านไม่เขียวใส จะมีดอก และหน่อ งอกตามตุ่มหนาม ดอกจะออกมาในช่วงฤดูร้อน ดอกหลักๆ มี 2 สี คือ ขาว และชมพู แต่จะมีหลากหลายโทนและเฉด

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด และการชำหน่อ สามารถเด็ดหน่อ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


สกุล อิชินอปซิส ( Echinopsis ) ในภาพเป็น ซับเดนูดาตา ( E.subdenudata ) เป็นแคคตัสที่เลี้ยงได้ง่าย ชอบชื้นแต่ไม่แฉะ อากาศถ่ายเทดีอยู่ได้ทั้งแดด 60% จนถึงเลี้ยงกลางแจ้งแดด 100% แต่ถ้าหากเลี้ยงแดดแรงต้องหมั่นรดน้ำ เพราะหากขาดน้ำต้นจะซีดเหลืองไหม้แดดได้ง่าย เป็นไม้ที่แตกกอ แตกหน่อยได้ง่ายเมื่ออายุถึงวัย ดอกสีขาวใหญ่ มีกลิ่นหอมอ่อน สดชื่นๆ เมื่อดมใกล้ๆ ดอกจะบานในตอนกลางคืน และโรยในตอนเที่ยง

การขยายพันธุ์ : ชำหน่อ สามารถเด็ดหน่อ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


กระบองเพชรทั้งหมดนี้ใช้วัสดุปลูกเหมือนกัน แตกต่างกันตรงการให้น้ำ และแสงแดดที่ต้องการ วัสดุปลูกควรเป็น ดินกระบองเพชร โดยเฉพาะ เพราะจะมีคุณลักษณะเครื่องปลูกที่โปร่ง และระบายน้ำ ความชื้น ในการปลูกควรรองก้นกระถางเพื่อให้ดินระบายความชื้นได้ดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

• วัสดุที่ใช้ปลูก ไม้อวบน้ำ กระบองเพชร (แคคตัส) มีอะไรบ้าง ใช้ทำอะไรบ้าง?? >> คลิก <<
• ขั้นตอนง่ายๆ ในการปลูก หรือเปลี่ยนกระถาง แคคตัส กระบองเพชร ไม้อวบน้ำ >> คลิก <<
• การให้น้ำ รดน้ำ กระบองเพชร ( แคคตัส ) ไม้อวบน้ำ ควรให้ ยังไง ปริมาณเท่าไหร่?? >> คลิก <<