กระบองเพชร สกุล แมมมิลลาเรีย (Mammillaria ) การเลี้ยง และดูแล


ลักษณะของต้น

เป็นสกุลกระบองเพชรที่มีความหลากหลายของลักษณะ มีทั้งชนิดที่มีหนามแหลม และเป็นขนหนามอ่อนนุ่ม ลักษณะ โครงสร้าง ลำต้น มีเนื้อแกนกลาง แตกออกเป็นตุ่ม และมีหนาม หรือขนหนาม ที่ปลายตุ่ม ขนหมามมีทั้งสีขาว สีเหลืองทอง หรือออกโทนแดง แล้วแต่ชนิดของต้น ซึ่งตุ่มหนามแมมมิลลาเรียบางชนิด สามารถนำมาชำเพื่อขยายพันธุ์ได้ เช่น แมมขนนก

ช่องว่างระหว่างตุ่มหนาม โดยส่วนมากจะมีเป็นปุยขาวลักษณะคล้ายปุยนุ่นสำลีแทรกอยู่ ด้วยลักษณะของแมมมิลลาเรียที่ลำต้นมีเนื้อเยื้อแกนกลางลำต้นค่อนข้างน้อย และอ่อนนุ่ม ธรรมชาติของต้นจึงสร้างปุยขึ้นมาเพื่อปกป้องไม่ให้แกนลำต้นโดนแสงแดดมากเกินพอดี เมื่อเจริญเติบโตอายุมากจะแตกหน่อเป็นกอใหญ่ขยายขึ้นเรื่อยๆ

ลักษณะของดอก

แมมมิลลาเรีย สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นและสารอาหารที่เพียงพอ แต่ฤดูที่มีดอกเยอะ เหมาะกับการขยายพันธุ์ที่สุดคือ ฤดูหนาว ลักษณะการออกดอกจะออกเป็นวงรอบ ต้นหรือหน่อครอบคล้ายลักษณะของมงกุฎ สีของดอกที่พบได้บ่อยคือ ขาว และชมพู ม่วง มีโทนออกแดงเข้มบ้าง แต่จะพบได้น้อยกว่า ดอกจะบานในช่วงตอน สายๆจนถึงเย็น และหุบ ระยะเวลาออกดอก 2-3 วัน ก็จะโรย

การขยายพันธุ์

เพาะเมล็ด ชำหน่อ ปาดยอดให้แตกกอ หรือ ออกหน่อเพิ่ม และมีในบางชนิดสามารถติดฝักได้เองโดยไม่ต้องผสม เช่น แมมพิกุล แมมนิโวซา ซึ่งสกุลแมมมิลลาเรีย จะมีไม้ที่เป็นลูกผสม หรือ ไฮปริด ( Hybrid ) ค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นไม้ที่ได้จากการผสมข้ามชนิด จึงทำให้มีความหลากหลายในลักษณะของขนหนาม โดยลูกที่ออกมานั้น จะมีลักษณะเด่นของทั้ง 2 ชนิดผสมกัน

สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

แมมมิลลาเรียเป็นไม้ที่ชอบแดดค่อนข้างจัด 70-80 % ชั่วโมงแดดยาวนานต่อเนื่อง 6-8 ชั่วโมง หากเลี้ยงแสงแดดน้อยขนหนามจะกางออก เพื่อพยายามรับแสงมากขึ้น ที่ทำให้ขนหนามไม่แน่นฟู ฟอร์มต้นจะไม่กระชับ ต้นไม่สวยลำต้นยืดยาว ไม่กลมมน

เป็นกระบองเพชรที่ไม่ชอบความชื้นเยอะ ดินที่ใช้ปลูก ต้องโปร่ง ระบายความชื้น และอากาศภายในดินถ่ายเทได้ดี หากมีความชื้นสูงแต่เสี่ยงกับโรคเน่า หรือเชื้อราได้ สามารถเว้นระยะการรดน้ำได้นานกว่ากระบองเพชรชนิดอื่นๆ วิธีการดน้ำ คือให้รดจนชุ่มจนน้ำไหลออกรูก้นกระถาง รดน้ำครั้งถัดไปเมื่อดินแห้ง

และถ้าหากต้องการกระตุ้นการออกดอกจะใช้วิธีอดน้ำ เพื่อกระตุ้นสภาพการอยู่รอด จะช่วยให้กระตุ้นการออกดอก เพื่อขยายเผ่าพันธุ์ โดยการอดน้ำนานกว่าปกติที่เคยรด แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ซึ่งต้องดูระยะการอดน้ำ และปรับตามสภาพแวดล้อมของแต่สถานที่เลี้ยง ซึ่งจะไม่การนับวัน หรือสูตรที่ตายตัว ซึ่งการใช้การกระตุ้นด้วยวิธีควรดูว่าต้นไม้แข็งแรง ไม่อยู่ในช่วงป่วย หรือพักฟื้น

อีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้เลี้ยงแมมมิลลาเรียได้สวยก็คือควรจะมีโรงเรือน จะเป็นระบบเปิด หรือปิดก็ได้ แต่หากเลี้ยงเป็นระบบปิดควรจะมีระบบระบายอากาศภายในเพื่อป้องกันความชื้น หรืออากาศอบอ้าวภายในโรงเรือน ที่จะเป็นสาเหตุ ให้เน่าง่ายได้เหมือนกัน เนื่องจากแมมมิลลาเรียไม่เหมาะกับการเลี้ยงที่โดนฝนโดยตรง เพราะมีโอกาสที่จะทำให้ต้นเน่าหรือเชื้อราได้ง่าย ฉะนั้นการมีโรงเรือนจะทำให้การควบคุม อุณหภูมิ น้ำ และปรับแสงง่ายต่อการเลี้ยงดู

ลักษณะของดอก
โรค และศัตรูพืช

เพลี้ย, ไรแดง, ราที่เกิดจากความชื้นในช่วงฤดูฝน

บทความที่เกี่ยวข้องผสมเกสรแมมมิลลาเรีย (MAMMILLARIA) ง่ายๆ ให้ติด ฝัก นำไปเพาะเมล็ดด้วย ปลายพู่กัน >>คลิก<<