วัสดุโรยหน้ากระถาง กระบองเพชร ( แคคตัส ) ไม้อวบน้ำ ใช้อะไรได้บ้าง? แต่ละวัสดุมีข้อดีเสียยังไง?


ในการปลูกกระบองเพชร หรือไม้อวบน้ำ วัสดุใช้โรยหน้ากระถางนั้นมีความจำเป็น เพราะจะช่วยประคองต้นตั้งตรง ไม่ล้มง่าย ในธรรมชาติ กระบองเพชร จะแทรกตัวในดิน หรือซอกหิน เป็นการประคองต้นแบบธรรมชาติ และการโรยวัสดุ หรือหิน ยังช่วยให้ดินไม่กระเด็นเวลารดน้ำ ด้วยดินกระบองเพชร จะมีลักษณะเบาร่วนซุย ไม่จับตัวจะทำไห้ดินไหล หรือกระเด็นเมื่อโดนน้ำได้

มีวัสดุหลากหลายแบบ ให้เลือกใช้ตามความชอบ ซึ่งแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติ แตกต่างกันไป ทั้งเรื่องประโยชน์ ข้อดี และเสีย

ดินญี่ปุ่น อคาดามะ ( Akadama Soil )

ลักษณะของวัสดุ : เป็นเนื้อดินที่นำไปผ่านการอบที่อุณหภูมิสุง ดินจับตัวเป็นเม็ด เนื้อแข็งปานกลาง แตกง่าย เมื่อใช้มือบีบ สีของดินเปลี่ยนเมือโดนน้ำ ทำให้สังเกตความชื้นในดินได้ง่าย สีเป็นธรรมชาติ สวยงามเมื่อนำมาตกแต่ง มีแร่ธาตุในตัว
ความคงทน : เปี่อยยุ่ย ตามอายุการใช้งาน หากโดนน้ำบ่อย สถานที่ปลูกความชื้นสูง ก็จะทำเนื้อดินสึกกร่อนได้ง่าย นำกลับมาใช้ซ้ำยาก
การกักเก็บความชื้น : ช่วยเก็บความชื้นพอประมาณ ตัวดินแห้งง่ายไม่อมน้ำมาก
ราคา : เป็นสินค้านำเข้า ราคาค่อนข้างสูง

หินภูเขาไฟสีดำ หินลาวาดำ ( Black Volcanic Stone )

ลักษณะของวัสดุ : เป็นเนื้อหินที่มีความโปร่งพรุนสูง ลักษณะเนื้อหินมีความสาก ร่วน เนื้อค่อนข้างแข็ง ขนาดเม็ด จะไม่ค่อยสม่ำเสมอกัน เป็นก้อน หรือละเอียดบ้าง สีของหินเปลี่ยนเมือโดนน้ำ มีแร่ธาตุในตัว
ความคงทน : มีความคงทนสูง ใช้งานได้นาน แต่เมื่อใช้ไปนานๆ อาจจะเป็นคราบขาวจากตะกอนน้ำได้ (ซึ่งไม่มีผลต่อการเจริญเติบโต)
การกักเก็บความชื้น : หินแห้งง่าย ไม่เก็บความชื้นนาน หากเป็นไม้ที่ปลูกกลางแจ้ง หรือโดนฝน ก็จะทำให้ดินในกระถางแห้งเร็ว ไม่ทำให้โคนต้นเป็นคราบความชื้น นำกลับมาใช้ซ้ำยาก
ราคา : เป็นสินค้านำเข้า ราคาปานกลาง

ดินคานูมะ ( Kanuma Soil )

ลักษณะของวัสดุ : เป็นเนื้อดินนุ่ม แตก ยุ่ยง่าย มีแร่ธาตุในตัว สีเปลี่ยนเมื่อโดนน้ำ เนื้อดินเม็ด น้ำหนักเบา เวลารดน้ำต้องระวังกระเด็น หรือลอยตัวได้
ความคงทน : เปี่อยยุ่ย ตามอายุการใช้งาน หากโดนน้ำบ่อย สถานที่ปลูกความชื้นสูง ก็จะทำเนื้อดินสึกกร่อนได้ง่าย นำกลับมาใช้ซ้ำยาก
การกักเก็บความชื้น : เก็บความชื้นนาน แห้งช้า เหมาะกับไม้ที่ไม่ต้องการความชื้นเยอะ
ราคา : เป็นสินค้านำเข้า ราคาค่อนข้างสูง

หินภูเขาไฟ ( Pumice )

ลักษณะของวัสดุ : เป็นเนื้อหินที่มีความโปร่งพรุน ลักษณะเนื้อหินมีความสาก น้ำหนักเบา เวลารดน้ำต้องระวังกระเด็น หรือลอยตัวได้ สีของหินเปลี่ยนเมือโดนน้ำ มีแร่ธาตุในตัว เบอร์ที่ใช้โรยหน้ากระถางควรเป็นเบอร์ใหญ่
ความคงทน : เป็นวัสดุที่คงทน อายุการใช้งานนาน สามารถล้างแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำได้
การกักเก็บความชื้น : หินแห้งเร็ว ทำให้ดินไม่เก็บความชื้นนาน เหมาะกับไม้ที่ไม่ชอบความชื้น
ราคา : เป็นสินค้านำเข้า ราคาปานกลาง

หินกรวด หินเกล็ด ( Pebble Stone, Crushed Stone )

ลักษณะของวัสดุ : แข็ง น้ำหนักเยอะ มีหลากหลายสีสันตามธรรมชาติ หากเป็นหินกรวดแม่น้ำ เม็ดจะมีลักษณะกลมมน หากหินเกร็ดจะเป็นหินภูเขา ลักษณะเม็ดเป็นแเหลี่ยม ไม่มีแร่ธาตุในตัว
ความคงทน : เป็นวัสดุที่มีความคงทน นำมาล้างและ ใช้ซ้ำได้บ่อย
การกักเก็บความชื้น : ตัวหินไม่เก็บความชื้น แต่จะทำให้ดินในกระถางระบายความชื้นได้ช้า ด้วยตัวหินมีลักษณะแน่นทีบ หากขนาดยิ่งเล็ก จะทำให้เกิดความแน่นหน้าดิน และทำให้ดินแห้งช้า
ราคา : เป็นสินค้าที่มีแพร่หลายหาซื้อได้ง่าย ราคาย่อยเยาว์

เม็ดดินเผา เม็ดดินปั้น ( Popper , Clay Pebbles )

ลักษณะของวัสดุ : เป็นเม็ดกลม เนื้อค่อนข้างแข็ง เนื้อด้านในมีความพรุนสูง สีมีทั้ง น้ำตาล หรือดำ แล้วแต่ผู้ผลิต น้ำหนักเบา เวลารดน้ำต้องระวังกระเด็น หรือลอยตัวได้
ความคงทน : เป็นวัสดุที่คงทน อายุการใช้งานนาน สามารถล้างแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำได้
การกักเก็บความชื้น : ด้วยตัวของเม็ดมีลักษณะพรุน จึงทำให้กักเก็บความชื้นได้เยอะทั้งหน้าดิน และในกระถาง
ราคา : ราคาปานกลาง

วิธีเลือกกระถาง วัดกระถาง ปลูกกระบองเพชร (แคคตัส) สำหรับมือใหม่


กระถาง ที่นิยมใช้มีทั้งที่เป็นเนื้อ พลาสติก และดินเผา โดยการเลือกใช้สามารถใช้ได้ตามความชอบ แต่ลักษณะของทั้ง 2 วัสดุนั้นมีความแตกต่างกันในเรื่องการระบายความชื้น อากาศถ่ายเท ฉะนั้นหากจะเลือกใช้วัสดุใด แนะนำให้ดูจากสถานที่เลี้ยง ว่ามีสภาพเหมาะสมกับกระถางแบบไหน ต้องการรดน้ำบ่อย เว้นระยะมากขนาดไหน หรือในไม้บางสกุลต้องการความชื้นน้อย ไม้ที่มีอายุมาก จะไม่ต้องการน้ำเยอะ และต้องการให้ดินแห้งเร็ว อาจจะเหมาะกับกระถางประเภทดินเผามากกว่า
ที่สำคัญ ไม่ควรเผื่อระยะให้ต้นไม้โตมากเกินไป แต่ควรเปลี่ยนกระถางเรื่อยๆ ตามระยะเพื่อกระตุ้นให้ต้นไม้เติบโตได้เร็วขึ้นด้วย และป้องกันความชื้นที่เยอะเกิน

กระถางมีผลอย่างไรกับการเลี้ยงบ้าง ??

ขนาดควรเหมาะสมกับต้น ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป เพราะถ้าหากกระถางใหญ่เกิน ก็จะเก็บกักความชื้นมากเกินพอดี อาจทำให้รากเน่าได้ง่าย กระถางเล็กไป ต้นก็อาจจะถูกจำกัดการโตได้ง่าย รากหาอาหารได้น้อย ดินเก็บความชื้นได้น้อยไป อาจจะทำให้ต้นเหี่ยวง่าย โตช้า หรือถ้าเลือกไม่เหมาะอาจจะทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตได้ เนื่องจากส่งผลกับระบบราก

แล้วขนาดไหนถึงจะพอเหมาะกับต้น ??

สามารถวัด กะระยะคราวได้จากรอบวงของต้น หรือจากโคนต้นควรห่างจากขอบปากกระถาง 1.5 – 2.5 เซนติเมตร โดยประมาณ

ก้นกระถางลักษณะนี้ จะระบายความชื้นได้ดี จึงไม่ต้องใช้วัสดุรองก้นเยอะ

แล้วทรงของกระถางควรเลือกแบบไหน ??

ก่อนอื่นเราต้องดูลักษณะของรากกระบองเพชร ว่ามีลักษณะเช่นไร เป็นรากฝอย หรือมีลักษณะเป็นโขด และรากแก้วมีความยาวขนาดไหน ( หลังจากตัดแต่งรากแล้ว ) ตัวสกุลของกระบองเพชรที่จะปลูก ว่าชอบชื้นมากหรือน้อยเพียงใด เพราะทรงของกระถางนั้นจะมีทั้ง สูง ก้นลึก ทรงก้นตื้น หรือ กว้าง สูงเท่ากัน


หากเป็นไม้ที่ชอบชื้น แนะนำให้เลือกเป็นกระถางทรงลึก เช่น ยิมโน, แอสโต, เมโล, อิชินอป, โลบิเวีย, โครีแฟนทา, อิชิโน ไม้ที่ชอบดินแห้งเร็ว ไม่เก็บความชื้นนาน ควรเป็นกระถางที่ก้นไม่ลึก ปากกว้าง ทรงชาม ทรงขัน เช่น แมม, รีบูเทีย ไม้ที่ไม่ชอบชื้นมาก รากเป็นโขด ควรเลือกเป็นกระถางทรงลึก ก้นแคบกว่าปาก ให้ปากกว้างและ บานออก เช่น โลโฟ, แอริโอคาร์ปัส, คอตชู

บทความที่เกี่ยวข้อง

• เพิ่งจะลงปลูกใหม่ รากก็เดิน ทำไม…กระบองเพชร (แคคตัส) โคนต้นยุบ ไม่โตขึ้น >> คลิก <<

มือใหม่ เริ่มสนใจปลูก กระบองเพชร (แคคตัส) ไม้อวบน้ำ ต้องเริ่มยังไง??


สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ในการเริ่มปลูก กระบองเพชร คือ การเริ่มเรียนรู้ในสกุล และชนิด ของกระบองเพชร กระบองเพชรนั้นมีหลายสกุล ในแต่ละสกุล มีแตกแยกย่อยไปอีกหลายชนิด การเลี้ยงดูนั้นมีความยาก และง่าย ยังมีต่างกันไปอีกด้วย

ดังนั้นหากจะเริ่มเลี้ยงควรเลือกที่เลี้ยงดูได้ง่ายๆ ซึ่งสกุลที่เลี้ยง และดูแลได้ง่ายๆ อาทิเช่น ยิมโนคาไลเซียม ( Gymnocalycium ) อิชินอปซิส ( Echinopsis ) โอพันเทีย ( opuntia ) แมมมิลลาเรีย ( mammillaria ) บางชนิด

ลำดับต่อมาคือการให้น้ำ สภาพแวดล้อม และวัสดุปลูก ด้วยกระบองเพชรไม่ใช่ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในบ้านเรา ฉะนั้น ดิน สภาพแวดล้อม ก็ควรจะให้ใกล้เคียงกับถิ่นกำเนิดของกระบองเพชร ที่เป็นที่แห้งแล้ง ความชื้นไม่มาก แสงแดดเพียงพอตลอดทั้งวัน ดินที่ใช้ปลูกไม่อุ้มน้ำมาก น้ำไม่ขัง

ลักษณะโดยพื้นฐานของกระบองเพชร ตัวต้นจะมีหลากหลายลักษณะตามสายพันธุ์ ต้นเป็นฟอร์ม ตอสูง กลมแตกหน่อเป็นพุ่ม หรือเป็นหัวเดียว มีทั้งมีหนาม และไม่มีหนาม ลักษณะของหนาม มีทั้งเป็นหนามแข็งแหลม คม และขนหนามแบบอ่อนนุ่ม ลักษณะของราก ทั้งที่รากเป็นฝอย หรือมีลักษณะเป็นโขด

มีดอกเพื่อใช้ในการสืบพันธุ์ แต่ละสกุลจะให้ดอกยากง่ายแตกต่างกัน สีของดอกมีทั้ง ขาว ชมพู แดง ส้ม เหลือง ม่วง แล้วแต่สกุล ส่วนใหญ่ดอกบานในตอนกลางวัน ช่วงเที่ยง-บ่าย และหุบในตอนกลางคืน และมีบางสกุลดอกบานในตอนกลางคืน และโรยในตอนเที่ยง

การขยายพันธุ์ คือ การผสมเกสรจนติดฝัก และนำไปเพาะเมล็ด แต่จะมีบางสกุล ที่สามารถชำหน่อได้

อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้ควบคู่ไปกับการเลี้ยงคือ โรค และอาการป่วย โดยหลักๆ โรคและอาการป่วยของกระบองเพชรนั้น เกิดได้จาก 2 ปัจจัยคือ สภาพแวดล้อม และแมลง ศัตรูพืช ที่พบบ่อย อาทิเช่น ไร, เพลี้ย, รา ในการรักษาก็มีหลายวิธี โดยจะมีตัวยาที่เป็นสารเคมี หรือจุลินทรีย์ที่นำมาใช้แตกต่างกันไป

ลิงค์ที่เกี่ยวข้องกับบทความ

• วัสดุที่นิยมใช้ปลูกกระบองเพชร >> คลิก <<

• การรดน้ำ ให้น้ำ กระบองเพชร >> คลิก <<

• แสงแดด สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเลี้ยงกระบองเพชร >> คลิก <<

เพาะเมล็ด กระบองเพชร (แคคตัส) จะต้องทำอย่างไรต่อ? ควรแยกมาปลูกเมื่อไหร่?


เมื่อเพาะเมล็ดได้ระยะเวลาประมาณ 4 – 6 เดือน หรือเมื่อต้นอ่อนขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร ( ซึ่งบางสายพันธุ์สามารถแยกได้ ตั้งแต่ต้นอ่อนมี ขนาด 0.5 เซนติเมตร โดยจะดูความสมบูรณ์ของต้นอ่อนเป็นหลัก )

หากเป็นการเพาะเมล็ดแบบปิด ก่อนที่จะนำออกมาปลูก 1-2 อาทิตย์ค่อยๆ แง้มฝากล่อง ภาชนะ หรือถุง ที่ใส่ในการเพาะทีละนิด เพื่อให้ต้นอ่อนได้มีการปรับตัวกับสภาพอากาศภายนอก ที่อุณหภูมิจะแตกต่างกันมาก

เมื่อต้นอ่อนได้ปรับสภาพแล้ว ก็สามารถนำลงปลูกในดินปลูกปกติได้เลย โดยไม่ต้องตัดแต่งราก โดยการปลูกนั้น แนะนำให้เป็นการปลูกในกระถางรวมกันก่อน เพื่อประหยัดพื้นที่ และอีกหนึ่งสาเหตุ ต้นอ่อนกระบองเพชรนั้น จะมีรากที่อ่อน เล็ก ดูดซึมความชื้นได้น้อย หากดินชื้นมากจะทำให้ต้นอ่อนเน่าได้ง่าย การปลูกรวมกันจึงเป็นการช่วยควบคุมความชืนในดินไม่่ให้มีมากเกินไป


คำถามที่พบบ่อย ??

ถ้าหากเรายังไม่มีเวลาแยกมาปลูกลงดิน จะส่งผลเสียอะไรกับต้นอ่อนหรือไม่?

ต้นอ่อนสามารถอยู่ในกล่อง หรือกระถางเพาะต่อได้อยู่ โดยเลี้ยงต่อแบบเปิดฝากล่อง หรือนำเอาออกมาจาก กล่อง ภาชนะ ถุง ที่เราใส่อบไว้ แล้วให้น้ำโดยการโชยน้ำอยู่เรื่อยๆ เมื่อดินแห้ง ซึ่งเขาสามารถโตต่อได้

แต่การเจริญเติบโต อาจจะเริ่มช้าลง เพราะสารอาหารที่อยู่ในดินเพาะจะเริ่มหมด หรือเมื่อต้นโตมากขึ้นเรื่อยๆ จนเบียดกัน เกิดการแย่งอาหาร ส่งผลให้ต้นที่เล็กกว่่า อาจจะถูกแย่งอาหารจนแคระแกร็น หรือฝ่อตายได้

วัสดุที่ใช้ปลูก ไม้อวบน้ำ กระบองเพชร (แคคตัส) มีอะไรบ้าง ใช้ทำอะไรบ้าง??


วัสดุเหล่านี้ใช้ได้กับต้นไม้ทุกประเภท ไม้อวบน้ำ กระบองเพชร กุหลาบหิน ไลทอป ฮาโวเทีย อากาเว่ บอนไซ พืชไร้ดิน ไม้โขด ไม้ฟอกอากาศ ไม้ดอก ไม้ประดับ พืชสวนครัว ผักออแกนิค
โดยปรับใช้วัสดุให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการปลูก กับสายพันธุ์แต่ละประเภทที่ต้องการความชื้น หรือ ลักษณะเนื้อดินที่ต่างกัน

soil_16_9

หากปลูกน้อย หรือไม่ต้องการผสมเอง การใช้ ดินปลูกสำเร็จรูป ที่ผสมพร้อมปลูกแทนก็จะช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น โดยดินที่เหมาะสม ควรมีลักษณะดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี เก็บความชื้นพอเหมาะกับต้นไม้ หากมีอินทรีย์วัตถุ ควรผ่านการหมัก หรือพักดินให้ได้อุณหภูมิเหมาะสมก่อนนำใช้ เพื่อป้องกันกระบวนการย่อยสลายที่ยังไม่สมบูรณ์ และทำให้เกิดความร้อนในดินจากกระบวนการย่อยของจุลินทรีย์ จนอาจจะเป็นสาเหตุให้รากไม่เดินได้

ปุ๋ยบำรุง

ใช้ผสมดินปลูก บำรุงหลังจากปลูก ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งแบบอินทรีย์ และเคมี แต่การใช้ปุ๋ยเคมีไปนานๆ โดยไม่ได้มีการเติมปุ๋ยอินทรีย์ลงไปในเพิ่มเลย อาจจะทำให้เกิดสภาวะความเป็น กรด-ด่าง ในดินไม่เหมาะสม จนทำให้ดินเสื่อมสภาพได้ง่าย

ปุ๋ยอินทรีย์ ควรเป็นปุ๋ยที่ผ่านกระบวนการพักตามธรรมชาติ หรือหมักจน ไม่มีก๊าซ แก๊ส กระบวนการย่อยสลายสมบูรณ์ อุณหภูมิไม่สูง เหมาะนำมาใช้ในการปลูก ซึ่งอาจจะได้จากสัตว์ หรือ การหมักจากพืช เช่น มูลค้างคาว (มูลเก่า) มูลไส้เดือน น้ำหมักจากพืชต่างๆ ปุ๋ยพืชหมัก ที่ต้องมีข้อระวังในการใช้คือ หากการหมัก หรือพัก ยังไม่สมบูรณ์จะทำให้เกิดความร้อนสูง อาจะทำให้ต้นมีอาการากกุดได้

ปุ๋ยเคมีชนิดเม็ด นิยมใช้เป็นสูตรเสมอ 13-13-13 หรือ 16-16-16 เป็นสูตรบำรุงครบ ซึ่งมีหลากหลายแบรนด์ให้เลือกใช้

พีทมอส ( Peatmoss )

ใช้ในการเพาะเมล็ด หรือนำมาผสมเป็นเนื้อดิน ด้วยพีทมอส เป็นวัสดุปลูกที่สะอาด ปลอดโรค ( อนุญาตให้ใช้เป็นวัสดุที่สามารถส่งข้ามประเทศได้ ) พีทมอสเกิดจากการย่อยสลายโดยสมบูรณ์จากซากพืช จำพวกมอส ซากสัตว์ที่ที่ทับถมกันมานานหลายร้อยปี

เป็นวัสดุปลูกพืชที่สะอาด ปราศจาก แมลง เชื้อโรค เชื้อรา แบคทีเรีย เป็นอินทรียวัตถุจากธรรมชาติ ลักษณะของพีทมอสมีโครงสร้างโปร่ง ช่องว่างอากาศสูง สามารถเก็บความชื้นได้ดี สามารถอุ้มน้ำได้ดี โดยพีทมอสส่วนใหญ่จะเป็นสินค้านำเข้าโดยมีแหล่งนำเข้ามาจากหลายประเทศ ผ่านตัวแทนนำเข้าของไทย

หินภูเขาไฟ ( Pumice )

ใช้เป็นส่วนผสมดิน และรองก้นกระถาง มีหลายขนาดของเม็ดให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม อุดมไปด้วยธาตุ อะลูมิเนียม แคลเซียม เหล็ก และแมกนีเซียม ซึ่งธาตุเหล่านี้ ช่วยในการดูดซับฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ช่วยเก็บกักธาตุอาหารพืช เพิ่มอากาศในดิน ไม่เกิดการอับชื้น อากาศในดินถ่ายเทได้ดี ช่วยควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกินไปและ ป้องกันไม่ให้ดินจับตัวเป็นก้อน โดยส่วนใหญ่จะเป็นสินค้านำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย

649497949.jpg
เพอร์ไลท์ ( perlite )

ใช้ผสมดินปลูก ช่วยรักษาความสมดุล ระหว่างปริมาณน้ำและอากาศในดิน รักษาสภาพดินไม่ให้ชื้น หรือแห้งจนเกินไป และยังเป็นตัวช่วยดูดซึม สะสม ปุ๋ย หรือเคมีต่างๆ ที่เติมลงไปในดินไม่ให้ซึมหายออกไปจากดินเร็วเกินไป อีกทั้งยังช่วยลดความเข้มข้นของ ปุ๋ย หรือเคมีที่เติมลงไปในดินได้อีกด้วย

เวอร์มิคูไลท์ ( Vermiculite )

ใช้ผสมดินปลูก อุดมไปด้วย ธาตุอาหาร โพแทสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียม ที่มีความจำเป็นกับพืช ช่วยเก็บกักความชื้นแบบพอเหมาะ และค่อยๆ ปล่อยอย่างช้าๆ ช่วยคุมอุณหภูมิในดินได้เป็นอย่างดี เป็นสินค้าที่มีการนำเข้าและผลิตในประเทศ สินค้ามีให้เลือกหลายเกรดตามที่ผู้นำเข้ามาจัดจำหน่าย

ดิน akadama โรยหน้ากระถาง ดินญี่ปุ่น
ดินญี่ปุ่น อคาดามะ ( Akadama soil )

ใช้ผสมดินปลูก โรยหน้ากระถาง ดินญี่ปุ่นมีค่า pH ที่เป็นกลาง และธาตุอาหาร จึงสามารถใช้เป็นส่วนผสมดินปลูก ปลูกต้นไม้ ผสมดินไลทอป หรือจะใช้ล่อรากแคคตัส (กระบองเพชร) ได้อีกด้วย สินค้าส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น

ข้อดีของดินญี่ปุ่น อคาดามะ (AKADAMA SOIL) ในการใช้แทนหินโรยหน้ากระถางแคคตัส หรือกระบองเพชร
• เนื้อดินไม่แข็งจนเกินไป ทำให้ไม่เบียดโคนไม้ ใส่ได้ตั้งแต่ไม้เล็กจนถึงไม้โต ทำให้โคนไม้สวย
• สีของดินทำให้เราสังเกตความชื้นของดินได้ง่าย สะดวกในการสังเกตการให้น้ำ หรือความชื้นในดิน
• ดินญี่ปุ่นนั้นมีความโปร่ง จึงช่วยระบายความอับชื้นในดินได้ดี
• มีธาตุอาหาร จึงเป็นการช่วยบำรุงต้นไม้

เม็ดดินเผา มวลเบา ( เม็ดป๊อบเปอร์ Popper )

ใช้ผสมดินปลูก ล่อรากต้นไม้ ปลูกต้นไม้ มีทั้งที่เป็นสีน้ำตาล และสีดำ เป็นวัสดุปลูกที่ปราศจากเชื้อโรค ปลอดจากโรคในดิน เพราะผ่านการเผาในอุณหภูมิสูง มีค่า pH เป็นกลาง สามารถใช้เป็น วัสดุปลูกต้นไม้ แทนดินปลูกต้นไม้ได้เลย เมื่อนำไปผสมดินปลูกจะเป็นตัวช่วยเพิ่มการกักเก็บความชื้น สำหรับพืชที่ต้องการความชื้นสูง โดยทำให้ดินโปร่งไม่จับตัวเป็นก้อน หรือสามารถใช้ขนาดเม็ดใหญ่ รองก้นกระถาง เม็ดดินเผาเป็นวัสดุที่คงทนแข็งแรง จึงสามารถเก็บไว้ใช้ได้หลายครั้ง เพียงแค่ล้างผึ่งให้แห้งก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ขุยมะพร้าวป่น ( coconut coir )

ใช้ผสมดินปลูก เป็นอาหารของพืช โดยการย่อยสลายตัวอย่างช้าๆ ซึ่งขุยมะพร้าวที่จะนำมาใช้นั้นควรผ่านกระบวนการล้าง และหมัก เพื่อลดสาร แทนนิน ( Tannin ) ที่อยู่ในขุยมะพร้าวก่อน สารแทนนินนี้จะทำให้เกิดอาการรากชะงัก หรือต้นเหลืองในพืชได้

ขุยมะพร้าวที่ผ่านกระบวนการหมักและล้าง จนมีค่า pH ที่เหมาะสมแล้ว จะสามารถนำมาใช้งานได้เลย เรียกว่า Coco Peat ซึ่งมีลักษณะ มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับพีมมอส แต่การย่อยสะลาย หรือยุบตัวจะช้ากว่า อุ้มน้ำน้อยกว่า การนำขุยมะพร้าว มาใช้ควรเลือกใช้ให้เหมาะกับชนิดของไม้อวบน้ำ เพราะมีไม้อวบน้ำบางประเภทที่ไม่เหมาะกับการใช้ขุยมะพร้าว เช่น ไลทอป

แกลบดำ แกลบเผา ( chaff charcoal )

ใช้ผสมดินปลูก เป็นอาหารของพืช โดยการย่อยสลายตัวอย่างช้าๆ ช่วยเพิ่มความร่วนซุยในเนื้อดิน ลดการจับตัวของดิน มีความพรุนละเอียดสูง เพิ่มการหมุนเวียนอากาศในดิน ลดอุณหภูมิในดิน หากใช้ในปริมาณที่พอดีเหมาะสม ช่วยทำให้เก็บความชื้นพอเหมาะ ในแกลบดำอุดมไปด้วย ซิลิก้า ( SiO₂ ) ฟอสฟอรัส ( Phosphorus ) และโปรแทสเซียม ( Potassium )

ทรายหยาบ กรวดแม่น้ำละเอียด

ใช้ผสมดินปลูก เพื่อเพิ่มการยึดเกาะของราก และเพิ่มความร่วนซุยในดิน ลดการขังตัวของน้ำ เมื่อวัสดุปลูกเริ่มย่อยสลาย หรือยุบตัว โดยการจะเลือกนำมาใช้ ควรเป็นเนื้อกรวดแม่น้ำเบอร์เล็กที่มีขนาดเหมาะสม หากนำทรายละเอียดที่มีขนาดป่นมากเกินไป เมื่อวัสดุปลูกย่อยสลายหรือยุบตัว จะกลายเป็นอุ้มน้ำมาก และทำให้ดินแฉะแทน

รดน้ำ ให้น้ำ กระบองเพชร (แคคตัส) ยังไง?? ในช่วงฤดูฝน


สำหรับมือใหม่ที่มีความกังวลว่ากระบองเพชร ไม่ชอบน้ำ และความชื้นที่มากไป แล้วในฤดูฝนจะต้องให้น้ำอย่างไรดี??
ก่อนอื่น เราต้องดูสถานที่เลี้ยงเป็นหลัก เพราะแต่ละคนมีพื้นที่การเลี้ยงที่แตกต่างกัน ทั้งมีโรงเรือน ชายคาบ้าน กลางแดด กลางฝน ซึ่งทั้งหมดเป็นตัวแปรในการให้น้ำ ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องประเมินจากสภาพแวดล้อมการเลี้ยง รวมกับดินปลูกของเรานั้นแห้งเร็ว และช้าขนาดไหน

วิธีเช็คว่าดินแห้ง หรือยังชื้น >> คลิก <<

สถานที่เลี้ยงแต่ละแบบก็มีผลต่อการแห้งของดินที่แตกต่างกัน

ฉะนั้นการให้น้ำในฤดูฝนก็จะแตกต่างกันไป

เลี้ยงชายคาบ้าน หรือโรงเรือนแบบเปิดข้าง มีโอกาสโดนฝน ก็จะใช้การประเมินดิน และต้นเป็นหลัก โดยการให้น้ำควรจะลดปริมาณลง แต่จะให้ตามการแห้งของดินเป็นหลัก เน้นในแห้งเร็ว แต่ก็ระวังไม่ให้ต้นขาดน้ำมากไป คือ จากที่รดแช่จนน้ำออกก้นกระถาง ก็จะลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ดินแห้งเร็วขึ้น ไม่เก็บความชื้นเยอะไป

เลี้ยงแบบโรงเรือนปิด ก็จะสามารถคุมการให้น้ำได้ง่าย การรดน้ำก็เน้นให้แห้งเร็ว ลดปริมาณน้ำลงเหมือนกัน หรือเพิ่มระยะการให้น้ำให้ห่างขึ้นจากเดิม เพราะในฤดูฝนอาจจะทำให้ฟ้าปิด ไม่มีแสงแดดติดต่อกันหลายวัน ดินก็จะแห้งช้ากว่าฤดูอื่นๆ

และในฤดูฝนช่วงที่ฝนใกล้ตก เป็นช่วงอากาศร้อน และเย็นเจอกัน ภายโรงเรือนจะมีความอบ และชื้นสูงอีกด้วย ซึ่งต้องระวังเพราะความชื้นสามารถแทรกซึมไปได้ทุกที ควรใช้พัดลมช่วยระบาย หรือเปิดโรงเรือนให้ลมผ่าน ในช่วงนี้ความชื้นในอากาศเยอะ

– เลี้ยงแบบแดดร้อยฝนร้อย ก็แค่ปล่อยให้ดินแห้งจริงๆ ค่อยรดน้ำค่ะ เพราะช่วงฝนติดกันดินจะชื้นมาก สิ่งที่ต้องระวังคือ การเน่า ถ้าที่ตั้งหรือวางต้น อากาศไม่ถ่ายเท ลมไม่ผ่าน การแห้งของดินช้า อาจจะทำให้ดินชื้นเกินจนไม้เน่า และยังเสี่ยงกับการที่ดินอุ้มน้ำเยอะ ความชื้นมาก จนอาจจะทำให้เกิดเชื้อราที่รากซึ่งจะเป็นสาเหตุของการเน่าจากรากและล่ามสู่ต้น

วิธีที่จะช่วยให้ลดความชื้นในกระถางได้ดีคือ การเลี่ยงใช้วัสดุรองก้นกระถางที่เก็บความชื้นสูงอย่างเช่น กาบมะพร้าวสับ เพราะจะช่วยอุ้มน้ำไว้มากเกินไป ใช้เป็นหินภูเขาไฟ หรือถ่านจะช่วยให้ระบายความชื้นได้ดีกว่า

แต่สิ่งสำคัญคือ การเฝ้าตรวจดูอาการของไม้ ว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เผื่อถ้ามีเหตุฉุกเฉินยังพอช่วยชีวิตเขาไว้ได้ทัน

กระบองเพชร รากเสีย รากตาย แก้ได้ง่ายๆ ได้รากใหม่ ต้นกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม


บ่อยครั้งที่เรารับต้นใหม่เข้าบ้าน ทำให้เราไม่รู้ประวัติของต้นก่อนจะมาถึงเรา และไม่ทราบสาเหตุ ที่ทำให้เรานำไม้มาปลูกแล้วเกิดปัญหา ต้นไม่โต รากไม่เดิน หรือแย่สุดคือ รากเน่าจนกินเข้ามาจนถึงแกนต้น และเน่าลามจนเกิดเยี่ยวยา

แต่ข้อสันนิษฐาน คือ ให้สังเกตไม้ก่อนนำเข้าบ้านว่า มีลักษณะสมบูรณ์หรือไม่ รากยังขาวแข็งแรงไม่เหี่ยวแห้ง ต้นไม่มีอาการนิ่ม หรือฝ่อบริเวณโคน เพราะอาการเหล่านี้ สามารถบ่งชี้ถึงสภาพแวดล้อมหรือการเลี้ยงก่อนหน้านี้ได้ว่า อาจจะได้รับน้ำไม่เพียงพอ หรือ ถ้าเป็นไม้ที่ถอดรากมา จะไม่เห็นสภาพของดินเดิม ก็อาจจะทำให้ยากต่อการประเมิน อาจจะต้องใช้วิธีทดลองปลูกก่อน และถ้าในระยะเวลา

หลังจากปลูก ราว 2 สัปดาห์แล้ว ต้นยังไม่มีการฟื้นตัวใดๆ ยอดไม่เดิน และเมื่อรื้อรากมาดู รากก็ไม่เดินหรือ งอกใหม่ อาจจะตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า รากเก่านั้นอาจจะมีปัญหา ไม่ว่าจากการขาดน้ำมานาน หรือโดนโรค และแมลงรบกวน

วิธีแก้แบบที่จะสามารถลดอัตราการตายหรือสูญเสียได้ อีก 1 วิธี คือ การตัดรากเดิมทิ้งทั้งหมดและกระตุ้นให้เขาสร้างรากใหม่ขึ้นมาทดแทน
ซึ่งในการเปลี่ยนกระถางเราจะนิยมตัดแต่งรากกันอยู่แล้ว แต่จะต่างกับในลักษณะนี้ เพราะจะเป็นการตัดจนกุดและเลี้ยงรากใหม่แทน

Re-cacutus-root333

วัสดุ / อุปกรณ์ที่ใช้

– เม็ดดินเผา ( Popper)
– กระถาง
– ถาดหล่อน้ำ
วัสดุเสริม ที่อาจจะใส่เพิ่ม แต่ถ้าหากไม่มีก็ไม่เป็นไร
เช่น – วิตามินบำรุงแบบผสมไปกับน้ำ – ปุ๋ยอินทรีย์บำรุง
ที่ร้านจะไม่ใช้เคมี เลยจะใช้เป็นก้อนฟอสเฟตที่เกิดจากการตกผลึกของมูลค้างคาวในถ้ำจนจับตัวเป็นก้อน ซึ่งจะมีแร่ธาตุ และสารอาหารอยู่ในตัวเยอะ ช่วยกระตุ้นการเกิดรากใหม่ได้ดี

ขั้นตอนการทำ

1. ตัดรากจนถึงโคนต้น และให้มั่นใจว่า ต้นยังไม่ได้มีอาการเน่า เพราะถ้าหากมีอาการเน่า และลามถึงต้นแล้วนั้น จะไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้

2. วางทิ้งไว้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท อาจจะมีแสงแดดอ่อนๆ ส่องในช่วงเช้าๆ เพื่อเป็นตัวช่วยให้เแผลที่ตัดแห้งเร็ว และจะช่วยฆ่าเชื้อด้วยไปในตัว สัก 4- 7 วัน ทั้งนี้ระยะนั้นขึ้นอยู่กับสถานที่และสภาพแวดล้อมที่วาง

3. หลังจากแน่ใจแล้วว่าแผลแห้งสนิท ให้นำเม็ดดินเผาใส่กระถาง และอาจจะมีวัสดุเสริมที่เป็นตัวบำรุงเพิ่มผสม นำต้นวางไว้ด้านบน แล้วนำต้นวางลงบนเม็ดดินเผา

4. ใส่น้ำหล่อสักประมาณ 1 ซม. จากก้นกระถาง วางไว้ในที่ๆ มีแสงร่ำไร ชายคาบ้าน หรือแดดเช้า ห้ามนำไปตากแดดโดยตรง

5. ค่อยหมั่นเติมน้ำเมื่อน้ำแห้งอยู่เสมอ

Re-cacutus-root.222jpg

คำถามที่พบบ่อย

• นานไหมกว่ารากจะงอกออกมาใหม่???

จากการทดลองกับหลายสายพันธุ์และหลายชนิด พบว่า ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ด้วย บางสายพันธุ์ อาจจะใช้เวลา เพียง 1 สัปดาห์ บางสายพันธุ์อาจจะใช้ระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ และอีกปัจจัยคือ สภาพแวดล้อมที่ใช้วางนั้นเอื้อต่อการสร้างรากใหม่หรือไม่ รวมทั้งความแข็งแรงของต้น หากต้นมียังมีพลังงานสะสมไว้ในตัวเองเยอะ ก็ยิ่งจะทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว และทำให้รากงอกเร็วขึ้นด้วย

• หลังจากที่มีราก นานไหมกว่าจะนำมาลงปลูกใหม่???

ให้สังเกตและดูความสมบูรณ์ของรากเป็นหลัก ควรมีความยาวอย่างน้อย 1.5 -2 ซม. และมีรากแก้วที่แข็งแรงแล้ว ถึงจะนำมาปลูกลงดินได้

• แล้วปลูกเหมือนการปลุกทั่วไปเลยไหม ???

วิธีการปลูกเหมือนกับต้นไม้ทั่วไป แตกต่างตรงที่หลังปลูกให้รดน้ำพอชุ่มๆ ทันที เพื่อรักษาความชื้นให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมที่เคยอยู่ตอนที่ล่อราก และก็ให้รดน้ำครั้งต่อไปเมื่อดินแห้งตามที่เลี้ยงปกติ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย สำหรับผู้ที่ประสบปัญหา การลงปลูกแล้วรากไม่เดิน หรือ รากตาย จากการขาดน้ำมานาน หรือโรค แมลงรบกวน

เพิ่งจะลงปลูกใหม่ รากก็เดิน ทำไม…กระบองเพชร (แคคตัส) โคนต้นยุบ ไม่โตขึ้น


pot_not_support.jpg

หลายคนเกิดความสงสัยว่า ทำไมต้นเพิ่งลงปลูก แต่กลับโคนยุบตัว หรือไม้นิ่ง ไม่โต สาเหตุที่เกิดมีได้หลายปัจจัย แต่อีกปัจจัยที่เล็กน้อย และเราอาจจะมองข้ามไปก็คือ การเลือกกระถางให้เหมาะกับต้น สภาพอากาศ สายพันธุ์ และการให้น้ำ

กระบองเพชร (แคคตัส) นั้นมีหลายหลายสายพันธุ์ และแต่ละสายพันธุ์ ก็ต้องการความชื้นที่แตกต่างกัน อย่างเช่น แอสโตร ยิมโน เมโล เป็นสายพันธุ์ที่ชอบน้ำมากกว่า สายพันธุ์อื่นๆ สภาพอากาศที่เลี้ยงแต่ละคนก็แตกต่าง ชนิดไม้ที่ปลูกก็มีความหลากหลาย การให้น้ำในกรณีที่ปลูกรวมกัน และจำนวนเยอะ อาจจะไม่สามารถรดน้ำตามประเภทของไม้ได้ จึงต้องให้น้ำรวมพร้อมกันทีเดียว

ฉะนั้น เมื่อไม้ได้รับน้ำเท่ากัน แต่ความแตกต่างที่ต้องการน้ำต่างกัน อาจจะทำให้บางต้นได้น้ำเยอะมากไป หรือบางต้นขาดน้ำ วิธีการที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้คือ การเลือกกระถางให้เหมาะสม ตั้งแต่ครั้งแรกที่ปลูก ขนาด ความลึก ประเภทของวัสดุ ล้วนมีปัจจัยรวมกันทั้งหมด

pot_not_support-2

อย่าง แอสโตรต้นนี้ กระถางที่เลือกใช้ตื้นเกินไป เมื่อใส่หินรองแล้ว พื้นที่ที่ใส่ดินก็น้อยลงไปอีก เมื่อนำไปเลี้ยงในที่แดดจัด ลมแรง ดินแห้งไว้ ทำให้ความชื้นระเหยเร็วเกินไป ต้นจึงได้รับความชื้นไม่เพียงพอ

pot_not_support-6
pot_not_support-5

ไม้ที่ชอบน้ำ อาจจะใช้กระถางที่มีก้นลึก เพื่อทำให้เก็บความชื้นได้มากขึ้น ส่วนต้นที่ชอบน้ำน้อย ก็จะเลือกเป็นประเภทปากกว้าง แต่ก้นแคบ เพื่อที่จะได้ระบายความชื้นได้ดีขึ้น ซึ่งในตอนนี้มีกระถางที่ผลิตโดยผู้ปลูกกระบองเพชรอยู่หลายเจ้า ที่นำประสบการณ์มาพัฒนาการผลิตกระถางให้เหมาะกับต้น และลักษณะการปลูก

pot_not_support-4

เลี้ยงไลทอป (LITHOPS) ยังไง.?? ให้รอด.. ไม่ตายง่าย


how-to-lithops-care-1.jpg

มีหลายคนถึงขนาดกับถอดใจ ในการเลี้ยงเจ้า ไลทอป เพราะด้วยความอ่อนไหวของต้นที่ทำให้กลับดาวได้ง่าย แต่ถ้าหากเราเข้าใจธรรมชาติ และการดูแลของเขา จริงๆ แล้วไลทอป ก็เลี้ยงไม่ได้ยากอย่างที่คิด

สิ่งสำคัญในการเลี้ยงก็คือ การทำสภาพแวดล้อมที่เลี้ยงให้เหมาะกับเขา เหมือนกับการเลี้ยงไม้อวบน้ำอื่นๆ  ที่มีปัจจัยหลัก 3 อย่าง คือ แสง น้ำ ดินหรือวัสดุปลูก โดยทั้ง 3 ปัจจัยนั้น ต้องมีความสมดุลพอเหมาะพอดี

how-to-lithops-care-2.jpg

แสงแดด

ไลทอป ต้องการชั่วโมงแดดต่อเนื่องอย่างน้อย 4-8 ชม. หากได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ สิ่งที่ตามคือ ลักษณะต้นที่จะเสียฟอร์ม ยืดยาว ไม่กลมมนกระชับ และควรเป็นแดดที่มีความเข้มข้น 60-80 % หากที่ๆ วางนั้นมีแดดแรงมาก อาจจะต้องใช้สแลนกางเพื่อช่วยในการพรางแสง

เพราะถ้าหากแดดที่ได้รับแรงเกินไปต้นก็อาจจะไหม้ หรือสุกแดดได้ และถ้าหากแสงแดดน้อยเกินไป ก็อาจจะทำให้ดินเก็บความชื้นไว้นานเกิน จนทำให้เกิดการโคนเน่าได้ อุณหภูมิในที่ๆ วางก็ไม่ควรสูง หรืออบมาก มีลมพัดผ่านอากาศถ่ายเทได้สะดวก

น้ำ

การได้รับน้ำที่พอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพราะถ้าได้รับน้ำไม่เพียงพอ รากอาจจะตายและเสีย ทำให้ต้นเหี่ยวย่น แต่ถ้าน้ำมากเกินไป ต้นก็อาจจะปริแตกได้ง่าย ฉะนั้นการให้น้ำจึงค่อนข้างสำคัญ

โดยวิธีให้ก็สามารถรดได้เหมือนกับต้นไม้ทั้่วไป รดจนน้ำไหลออกก้นกระถาง และในรดน้ำครั้งต่อไป จะรดเมื่อดินแห้งไม่มีความชื้นแล้ว หรือต้นแสดงอาการว่าต้องการน้ำ โดยสังเกตุได้จากรอยย่นบางๆ ที่ลำต้น หากไม่ใช่ช่วงผลัดใบ หลังจากให้น้ำแล้ว รอยย่นนั้นก็จะตึงขึ้นและหายไป

ดิน หรือวัสดุปลูก

ดินไลทอป หรือวัสดุนิยมนำมาผสม ใช้ปลูกก็มีหลากหลาย โดยที่นิยมใช้ก็จะเป็น พีทมอส เพอร์ไลต์ หินภูเขาไฟ ดินอคาดามะ ดินคานูมะ ซึ่งก็จะมีสูตรแตกต่างกันไป แต่สำคัญคือจะต้องผสมให้โปร่ง ไม่เก็บน้ำจนชุ่ม เก็บความชื้นพอเหมาะ

อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงก็คือ หินโรยหน้ากระถาง หรือหินโรยประคองต้น ต้องไม่เก็บความชื้นมากเกินไป และควรเป็นวัสดุที่ช่วยให้ความชื้นในดินระเหยได้เร็ว ที่นิยมใช้ หินกรวด ดินญี่ปุ่น หินภูเขาไฟ และในการโรยไม่ควรโรยหนา หรือแน่นไป เพราะเมื่อเกิดความชื้นสะสมมาก เมื่อมาบวกกับแสงแดดและอุณหภูมิที่สูง จะทำให้โคนต้นเน่าได้

PHOTO : PINTEREST

โดยตามธรรมชาติ ตัวต้นไลทอป นั้นจะฝั่งตัวเองลงไปในหิน และบริเวณอยู่ก็จะเป็นดินหินทราย แห้งๆ ร่วนๆ ด้วยลักษณะรากที่เป็นฝอยขนาดเล็ก ลักษณะดินจึงควรจะต้องร่วนซุย และไม่จับตัวแน่น แห้งง่าย ไม่เก็บความชื้นเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการเน่าได้ง่าย

เมื่อปัจจัยหลักในการเลี้ยงสามารถทำได้พอเหมาะ หรือใกล้เคียงกับธรรมชาติของเขาแล้ว การเลี้ยงดูระยะยาวก็จะเป็นเรื่องง่าย อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ “การปลูก”

สิ่งที่ควรจะต้องทำ และคำถึงในการปลูกไลทอปมีอะไรบ้าง??

1 . กระถางปลูก  ควรเลือกขนาดให้เหมาะสม ไม่ใหญ่ หรือเหลือพื้นที่มากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความชื้นสะสมในดินมาก และวัสดุของกระถางหากเลือกใช้เป็น พลาสติก หรือดินเผา ก็จะช่วยลดเรื่องการเก็บกักความชื้นที่เกินพอดีได้

2. ลักษณะการปลูก ด้วยไลทอป เป็นไม้ขนาดเล็ก จึงมักจะนิยมปลูกรวมๆ กันหลายต้นในกระถางเดียว แต่การปลูกรวมกันสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ขนาดของต้น ไม่ควรนำต้นเล็กหรือใหญ่ต่างกันมากปลูกในกระถางเดียวกัน เพราะถ้าหากเว้นที่ไม่เหมาะสม หรืออยู่ติดกันมาก ต้นเล็กมักจะถูกแย่งน้ำและอาหารได้

3. วัสดุโรยหน้ากระถาง ที่เลือกใช้มีส่วนช่วยในเรื่องความชื้น เช่น จำพวกดินญี่ปุ่น หรือหินภูเขาไฟ หากใช้เป็นวัสดุเหล่านี้ในการโรยหน้ากระถาง ก็จะช่วยเรื่องการระบายความชื้นได้ดี และยังช่วยให้สังเกตเห็นความชื้นในดินได้ง่ายขึ้น จากสีที่เข้มทำให้รู้ว่าดินยังมีความชื้นอยู่

4. การตัดแต่งรากก่อนปลูก เป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องทำก่อนนำต้นลงปลูก เพราะรากไลทอปเมื่อถูกดึงหรือ ถอนออกมาแล้วนั้น จะเสื่อมสภาพและตาย หากเราไม่ตัดแต่งก่อนปลูก จะทำให้ต้นไม่สามารถดูดซึมความชื้นไปใช้ได้ ดินจะชื้นและทำให้เกิดการเน่าโคนต้นได้ หรือถ้ารากไม่สามารถทำงานได้ ต้นที่ปลูกใหม่ก็จะย่นยุบจนตาย และรากที่ตายน้ั้น เกิดการเน่าในดิน ทำให้เกิดเชื้อราในดินได้ การตัดแต่งรากนั้น จะทำให้ต้นกระตุ้นการเกิดรากใหม่ ช่วยให้ฟื้นตัวหลังการเปลี่ยนกระถางได้เร็วขึ้น

5. การปรับแดดหลังปลูก หลังจากปลูกควรพักให้ต้นฟื้นตัวในแดดร่ำไร หรือสัก 40-50% พอสังเกตว่ารากเริ่มเดิน ต้นตึงปกติ ค่อยปรับแดดตามสภาพการเลี้ยงปกติ

6. ไลทอปค่อนข้างไวต่อสารเคมีและยา หากหลีกเลี่ยงได้ ควรใช้เป็นพวกชีวภัณฑ์แทน หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ยา ควรผสมให้อ่อนหรือเจือจางลง

7. ปุ๋ย หรืออาหารบำรุง โดยส่วนมากจะนิยมใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ และไม่ควรให้บ่อย หรือเยอะไป เพราะจะทำให้ต้นโตแบบผิดฟอร์ม หรือสีสันจะออกเขียว มากกว่าสีสันที่เป็นลักษณะของต้น เพราะได้รับไนโตรเจนสูงมากไป

วิธีเลี้ยงและดูแลโดยหลักๆ คือ การเริ่มต้นที่ดี หากปัจจัยทุกอย่างพอดีเหมาะสม
เจ้าไลทอปก็ไม่ตายง่าย และทนทาน เจริญเติบโตได้ดี