กระบองเพชร สกุล แอสโตรไฟตัม (Astrophytum) การเลี้ยง และดูแล


กระบองเพชร (แคคตัส) สกุล แอสโตรไฟตัม ( Astrophytum ) เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์กระบองเพชรที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย และมีการพัฒนาสายพันธุ์ อยู่เรื่อยๆ จนทำให้มีทรง และลวดลายแปลกตามากขึ้น

ลักษณะของต้น

ลักษณะที่โดดเด่นของต้นคือ ผิวสีเขียวเข้มสด ตัดกับลายบนต้นที่เป็นสีขาว ลวดลายมากมายแปลกตา ตามที่ได้พัฒนา และผสมพันธุ์ มีดอทปุย เป็นตุ่มขนขึ้นบนผิวต้น มีชนิดที่มีหนามและไม่มีหนาม แต่ที่นิยมและมีผู้เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์กันมากจะเป็นชนิดที่ไม่มีหนามอย่าง แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส ( A.asterias ) , แอสโตรไฟตัม ไมริโอสตริกมา ( A.myriostigma )



แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส มีการพัฒนาสายพันธุ์จากญี่ปุ่น จนทำให้เกิดลวดลายบนต้นที่แตกต่าง แตกย่อยอีกมากมาย โดยจะมีชื่อเรียกกันตามลักษณะ

KABUTO ( คาบุโตะ ) ลักษณะ : จะมีลวดลายขาวประปราย กระจายทั่ว ดอทต้นขนาดเล็ก เรียงตามเส้นพู ของต้น

• SUPER KABUTO ( ซูเปอร์คาบุโตะ) ลักษณะ : มีลายสีขาวหนา แน่น กว่าคาบุโตะปกติ ปื้นสีขาวมีลายหนา แปลกตา

• V-TYPE ( วีไทป์ ) ลักษณะ : มีลายสีขาวเป็นรูปตัวอักษรวี (V) เรียงไล่ตามดอท ตามแนวของพู หากต้นไม่มีลวดลาย เป็นสีเขียวและมีเพียงลายวี สีขาว จะเรียกว่า วีนูดัม ( V-Nudum )

• NUDUM ( นูดัม ) ลักษณะ : ผิวของต้นจะเกลี้ยงเขียว ไม่มีลาย หรือจุดสีขาวบนต้นเลย มีเพียงดอทปุย

• HANAZONO ( ฮานะโซโนะ ) ลักษณะ : มีดอทปุยเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วต้น มีลวดลายต่างๆ ไม่ซ้ำกัน ซึ่งดอทที่กระจายอยู่นี้ทำให้สร้างตาดอกได้หลายตำแหน่งมากกว่าปกติ จึงเป็นแอสโตรที่มีตำแหน่งการออกดอกได้ทั่วต้น ต่างกับแอสโตรปกติที่จะออกดอกที่ตุ่มหนามปลายยอดของต้น

• RENSEI ( เรนเซ ) ลักษณะ : ดอทปุย ตุ่มขน เรียงชิดติดกันมีลักษณะคล้าย “สร้อย” โดยปกติหากเป็น KABUTO ทั่วไป ดอทจะไม่เรียงชิดติดกัน จะมีระยะห่างระหว่างดอท

• OOIBO ( โออิโบะ ) ลักษณะ : ดอทปุย ตุ่มหนาม มีขนาดใหญ่กว่าปกติมาก และถ้าเป็นดอทที่ใหญ่กว่าปกติ และเรียงชิดกันเป็นสร้อย ก็จะเรียกว่า OOIBO RENSEI ( โออิโบะ เรนเซ )

• KIKKO ( กิ๊กโกะ ) ลักษณะ : ตุ่มหนามเป็นบั้ง และหยักเว้าเป็นร่องลึก และกว้างต่างกันไป มีลักษณะของสันพูที่แบ่งกันระหว่างแต่ละตุ่มหนาม คล้ายกับกระดองเต่า

• EKUBO ( คุโบะ ) ลักษณะ : มีรอยขีดสั้นๆ ขวาง ระหว่างพู หรือใต้ดอทหนาม เรียงตามพูคล้าย “ลักยิ้ม”

• FUKURYU ( ฟุคุริว ) ลักษณะ : ผิวยับย่น ขึ้นเป็นริ้วหยัก ซ้อนกันไป

• FUKURYO ( ฟุคุเรียว ) ลักษณะ : มีพูแทรกจากปกติ หรือพูเล็กๆ เหมือนติ่ง แทรกอยู่ในระหว่างพูใหญ่ปกติ

SNOW ( สโนว์ ) ลักษณะ : มีลาย หรือขนสีขาวขนาดติดกันเป็นปื้นใหญ่ จำนวนมากปกคลุมผิวของต้นแทนจะมองไม่เห็นสีเขียวของต้น

• STAR SHAPE ( สตาร์ เชฟ ) ลักษณะ : ลำต้นจะไม่กลมเหมือนแอสโตรทั่วไป จะมีความเว้าลึกระหว่างพู ที่เว้าไปจนถึงโคนต้น หากวางต้นหงายขึ้นจะเห็นรองระหว่างพูที่เว้าชัดเจน มองจากด้านบนลักษณะเหมือนดาว ต่างกับแอสโตรปกติที่เป็นลักษณะกลม

ส่วนที่เป็นแอสโตรไฟตัม ที่มีหนาม ได้แก่ แคปริคอร์น ( A.capricorne ), ออร์นาตัม ( A.arnatum ) เมื่อต้นยืนอายุมากต้นจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ลักษณะของดอก

ดอกมีเรื่อยๆ ในทุกฤดู แต่จะมากในฤดูร้อน ที่เหมาะเป็นการผสมพันธุ์ ดอกบานในช่วงเที่ยง-บ่าย และหุบตอนเย็น ดอกบาน 1-3 วันก็จะโรย เมื่อมีการผสมเกสรติดดอกจะปิดทันที มีดอกเป็นสีเหลืองส่วนใหญ่ แต่จะมีพบเป็นสีชมพู หรือชมพูโทนแดงได้ด้วย แต่จะค่อนข้างหายากกว่าสีเหลือง และจะมีชื่อเรียก ดอกสีชมพูโทนแดงว่า AKABANA ( อคาบานะ ) กลีบดอกปกติ จะยาวกว้าง ปลาย ขอบกลีบดอกเรียบ หากมีหยักหรือริ้ว จะเรียกว่า ดอกขนนก ซึ่งจะหาได้ยาก ดอกที่มีลักษณะแปลก และพบได้ยากอีกแบบคือ ดอกชินโชวะ ( Shinshowa ) ลักษณะของกลีบดอกจะเล็กเรียวเป็นเส้นฝอย

การขยายพันธุ์

ผสมเกสร ติดฝัก นำไปเพาะเมล็ด เป็นการผสมข้ามต้น และสามารถผสมข้ามชนิดกันได้ที่เป็นสกุลเดียวกัน เช่น แอสทีเรีย ผสมกับ ไมริโอสตริกมา ก็จะได้มาเป็นลูกผสม ที่มีลักษณะเด่นของทั้ง 2 ออกมาในรุ่นลูก ลูกผสมจะเรียกกันว่า Hybird (ไฮปริด)

สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

แอสโตร เป็นไม้ที่ค่อนข้างชอบชื้นกว่า กระบองเพชรทั่วไป ไม่ชอบแดดแรง หากเลี้ยงแดดจัดจะทำให้ผิวไหม้ง่าย หรือไม่เป็นสีเขียวใส เว้นแต่ในต้นที่มีลายขาวปกคลุมมาก หรือสโนว์ ที่จะทนแดดได้ดีกว่าไม้ที่มีผิวเขียวเยอะ ฉะนั้นการเลี้ยงจึงควรพลางแสง ด้วยสแลน หรือเป็นแดด 60-70% จะทำให้ไม้มีผิวที่สวยไม่กร้านแดด

ดินโปรงชื้น แต่ไม่แฉะ ดินไม่ชุ่มน้ำนาน ระบายความชื้นได้ดี รดน้ำเมื่อดินแห้ง ช่วงหน้าฝนต้องระวังไม่ให้ดินมีความชื้นมากเพราะจะเกิดคราบน้ำโคนต้น หรือโรคที่เกิดจากแบคทีเรียบางอย่างได้ เมื่อเกิดรอยแผลแล้วจะเป็นแผลตลอดรักษาไม่หาย นอกจากรอให้ต้นโต และผิวไล่ลงโคนต้น และเมื่อถึงระยะเปลี่ยนดิน หรือต้นโตคับกระถางควรเปลี่ยนดิน ขยายขนาดกระถาง เพื่อให้ต้นไม่ชะงักการโต หากปล่อยไว้นาน รากแน่น ความชื้นไม่พอจะทำให้โคนต้นยุบได้ง่าย และหากรากไม่มีการกระตุ้น หรืออ่อนแอ จะโดนโรค หรือศัตรูพืช รุ่มเร้าได้ง่าย

โรค และศัตรูพืชที่พบบ่อย

เพลี้ยแป้ง กัดกินราก และต้น, เพลี้ยญี่ปุ่น กินยอด , เพลี้ยหอย เกาะต้น, แคงเกอร์ เกาะ กัดกินผิว, หนู ที่ค่อยกัดกินต้น และกินฝักเมื่อผสมเกสรติด

รดน้ำ ให้น้ำ กระบองเพชร (แคคตัส) ยังไง?? ในช่วงฤดูฝน


สำหรับมือใหม่ที่มีความกังวลว่ากระบองเพชร ไม่ชอบน้ำ และความชื้นที่มากไป แล้วในฤดูฝนจะต้องให้น้ำอย่างไรดี??
ก่อนอื่น เราต้องดูสถานที่เลี้ยงเป็นหลัก เพราะแต่ละคนมีพื้นที่การเลี้ยงที่แตกต่างกัน ทั้งมีโรงเรือน ชายคาบ้าน กลางแดด กลางฝน ซึ่งทั้งหมดเป็นตัวแปรในการให้น้ำ ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องประเมินจากสภาพแวดล้อมการเลี้ยง รวมกับดินปลูกของเรานั้นแห้งเร็ว และช้าขนาดไหน

วิธีเช็คว่าดินแห้ง หรือยังชื้น >> คลิก <<

สถานที่เลี้ยงแต่ละแบบก็มีผลต่อการแห้งของดินที่แตกต่างกัน

ฉะนั้นการให้น้ำในฤดูฝนก็จะแตกต่างกันไป

เลี้ยงชายคาบ้าน หรือโรงเรือนแบบเปิดข้าง มีโอกาสโดนฝน ก็จะใช้การประเมินดิน และต้นเป็นหลัก โดยการให้น้ำควรจะลดปริมาณลง แต่จะให้ตามการแห้งของดินเป็นหลัก เน้นในแห้งเร็ว แต่ก็ระวังไม่ให้ต้นขาดน้ำมากไป คือ จากที่รดแช่จนน้ำออกก้นกระถาง ก็จะลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ดินแห้งเร็วขึ้น ไม่เก็บความชื้นเยอะไป

เลี้ยงแบบโรงเรือนปิด ก็จะสามารถคุมการให้น้ำได้ง่าย การรดน้ำก็เน้นให้แห้งเร็ว ลดปริมาณน้ำลงเหมือนกัน หรือเพิ่มระยะการให้น้ำให้ห่างขึ้นจากเดิม เพราะในฤดูฝนอาจจะทำให้ฟ้าปิด ไม่มีแสงแดดติดต่อกันหลายวัน ดินก็จะแห้งช้ากว่าฤดูอื่นๆ และในฤดูฝนช่วงที่ฝนใกล้ตก

เป็นช่วงอากาศร้อน และเย็นเจอกัน ภายโรงเรือนจะมีความอบ และชื้นสูงอีกด้วย ซึ่งต้องระวังเพราะความชื้นสามารถแทรกซึมไปได้ทุกที ควรใช้พัดลมช่วยระบาย หรือเปิดโรงเรือนให้ลมผ่าน ในช่วงนี้ความชื้นในอากาศเยอะ

– เลี้ยงแบบแดดร้อยฝนร้อย ก็แค่ปล่อยให้ดินแห้งจริงๆ ค่อยรดน้ำค่ะ เพราะช่วงฝนติดกันดินจะชื้นมาก สิ่งที่ต้องระวังคือ การเน่า ถ้าที่ตั้งหรือวางต้น อากาศไม่ถ่ายเท ลมไม่ผ่าน การแห้งของดินช้า อาจจะทำให้ดินชื้นเกินจนไม้เน่า และยังเสี่ยงกับการที่ดินอุ้มน้ำเยอะ ความชื้นมาก จนอาจจะทำให้เกิดเชื้อราที่รากซึ่งจะเป็นสาเหตุของการเน่าจากรากและล่ามสู่ต้น

วิธีที่จะช่วยให้ลดความชื้นในกระถางได้ดีคือ การเลี่ยงใช้วัสดุรองก้นกระถางที่เก็บความชื้นสูงอย่างเช่น กาบมะพร้าวสับ เพราะจะช่วยอุ้มน้ำไว้มากเกินไป ใช้เป็นหินภูเขาไฟ หรือถ่านจะช่วยให้ระบายความชื้นได้ดีกว่า

แต่สิ่งสำคัญคือ การเฝ้าตรวจดูอาการของไม้ ว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เผื่อถ้ามีเหตุฉุกเฉินยังพอช่วยชีวิตเขาไว้ได้ทัน

เพิ่งจะลงปลูกใหม่ รากก็เดิน ทำไม…กระบองเพชร (แคคตัส) โคนต้นยุบ ไม่โตขึ้น


pot_not_support.jpg

หลายคนเกิดความสงสัยว่า ทำไมต้นเพิ่งลงปลูก แต่กลับโคนยุบตัว หรือไม้นิ่ง ไม่โต สาเหตุที่เกิดมีได้หลายปัจจัย แต่อีกปัจจัยที่เล็กน้อย และเราอาจจะมองข้ามไปก็คือ การเลือกกระถางให้เหมาะกับต้น สภาพอากาศ สายพันธุ์ และการให้น้ำ

กระบองเพชร (แคคตัส) นั้นมีหลายหลายสายพันธุ์ และแต่ละสายพันธุ์ ก็ต้องการความชื้นที่แตกต่างกัน อย่างเช่น แอสโตร ยิมโน เมโล เป็นสายพันธุ์ที่ชอบน้ำมากกว่า สายพันธุ์อื่นๆ สภาพอากาศที่เลี้ยงแต่ละคนก็แตกต่าง ชนิดไม้ที่ปลูกก็มีความหลากหลาย การให้น้ำในกรณีที่ปลูกรวมกัน และจำนวนเยอะ อาจจะไม่สามารถรดน้ำตามประเภทของไม้ได้ จึงต้องให้น้ำรวมพร้อมกันทีเดียว

ฉะนั้น เมื่อไม้ได้รับน้ำเท่ากัน แต่ความแตกต่างที่ต้องการน้ำต่างกัน อาจจะทำให้บางต้นได้น้ำเยอะมากไป หรือบางต้นขาดน้ำ วิธีการที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้คือ การเลือกกระถางให้เหมาะสม ตั้งแต่ครั้งแรกที่ปลูก ขนาด ความลึก ประเภทของวัสดุ ล้วนมีปัจจัยรวมกันทั้งหมด

pot_not_support-2

อย่าง แอสโตรต้นนี้ กระถางที่เลือกใช้ตื้นเกินไป เมื่อใส่หินรองแล้ว พื้นที่ที่ใส่ดินก็น้อยลงไปอีก เมื่อนำไปเลี้ยงในที่แดดจัด ลมแรง ดินแห้งไว้ ทำให้ความชื้นระเหยเร็วเกินไป ต้นจึงได้รับความชื้นไม่เพียงพอ

pot_not_support-6
pot_not_support-5

ไม้ที่ชอบน้ำ อาจจะใช้กระถางที่มีก้นลึก เพื่อทำให้เก็บความชื้นได้มากขึ้น ส่วนต้นที่ชอบน้ำน้อย ก็จะเลือกเป็นประเภทปากกว้าง แต่ก้นแคบ เพื่อที่จะได้ระบายความชื้นได้ดีขึ้น ซึ่งในตอนนี้มีกระถางที่ผลิตโดยผู้ปลูกกระบองเพชรอยู่หลายเจ้า ที่นำประสบการณ์มาพัฒนาการผลิตกระถางให้เหมาะกับต้น และลักษณะการปลูก

pot_not_support-4

คำแนะนำหลังจากซื้อแคคตัส กระบองเพชร ไม้อวบน้ำ และพาต้นใหม่เข้าบ้าน ควรทำยังไงบ้าง??


🌵☘️ หลังจาก #ซื้อไม้มาและพาไม้ใหม่เข้าบ้าน มาฝากค่ะ ว่าควรทำยังไงบ้าง?? 😀
•••• 📦🌵 หากเป็นการสั่งซื้อ แคคตัส กระบองเพชร ไม้อวบน้ำ ทางออนไลน์ และถ้าทางร้านส่งเป็นแบบถอดกระถาง ขั้นตอนก็จะไม่เยอะ เพราะทางร้านจะเคาะดิน และล้างรากแล้ว หรือบางร้านก็จะตัดแต่งรากมาให้พร้อม
.
เราก็แค่วางไม้ไว้ในที่ๆ อากาศถ่ายเท ให้ไม้ได้ปรับตัวสัก 2-3 วันกับสภาพแวดล้อมใหม่ แล้วก็นำไปปลูกได้เลย
และคำแนะนำเสริมอาจจะใช้น้ำผสมปูนขาวอ่อนจางๆ พ่นทิ้งไว้ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อหรือโรคที่อาจจะมีติดมากับต้น

ส่วนในกรณีแบบที่ซื้อต้นไม้มาทั้งกระถาง 
พักไว้ให้ปรับสภาพแวดล้อมใหม่สัก 2 – 3 วัน และที่สำคัญควรวางไม้ในพื้นที่เฉพาะ☢️☣️ เพื่อป้องกันโรคติดต่อที่อาจจะมีมากับต้นใหม่ ( ในกรณีที่มีไม้ปลูกไว้อยู่แล้ว ) ควรวางแยกกับไม้ที่เราปลูกไว้ในที่ๆ ห่างกัน เพราะในบางคร้้งอาจจะมีโรคติดต่อที่อยู่ในกระถางที่ซื้อมาใหม่ ซึ่งอาจจะมาติดกับต้นไม้ของเดิมที่เราปลูกไว้

แนะนำให้นำรื้อกระถางต้นที่ซื้อมาใหม่ และนำปลูกใหม่ ด้วยสาเหตุดังนี้.
🤢 – เราไม่รู้ว่าดินที่อยู่ในกระถางนั้น ใช้มานานไหม ดินเสื่อมสภาพแล้วหรือยัง การเปลี่ยนดินใหม่ให้ ทำให้เรากะระยะในการเปลี่ยนดินครั้งต่อไปได้ง่ายขึ้นด้วย
.
🤔 – ดูระบบรากไม้ว่า แข็งแรงหรือยัง หากดูแล้วว่าระบบรากมีปัญหาจะได้รีบแก้ไขได้ทันท่วงที เพราะในบางกรณีไม้ที่เราซื้อมานั้น อาจจะเป็นประเภทไม้ชำ รากอาจจะยังเดินไม่ดี หรือแค่ปักไว้กับดิน และรากยังไม่เดิน
.
👾 – ในบางครั้งมีโรคที่ติดมากับดินในกระถาง เช่น เพลี้ย รา อาจจะต้องรีบทำการรักษา เพื่อไม่ให้มาติดต่อกับต้นไม้ที่เรามีอยู่ โดยแนะนำว่า หากพบโรคในดินให้นำดินนั้นทิ้งไป ไม่ควรนำกลับมาใช้อีก
/// ในกรณีที่ดูแล้วว่า ดินคุณภาพยังดีอยู่ อาจจะนำดินนั้นมาตากแดด ผสมปุ๋ยเพิ่มแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก