กระบองเพชร สกุล โครีแฟนทา (Coryphantha) การเลี้ยง และดูแล


ลักษณะของต้น

เป็นกระบองเพชรที่มีจุดเด่นตรง หนาม ลักษณะของต้นเป็น เต้ากระจายรอบต้น ผิวของต้นสีเขียวเข้ม มีปุยขาวปกคลุมในช่วงระหว่างเตา แตกหน่อที่ปลายเตา หรือช่องระหว่างหน่อ สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยง และพบได้บ่อยคือ C.elephantidens ( ช้างแคคตัส ) ที่มาจากภาษาลาติน ที่แปลว่า ฟันช้าง ตามลักษณะของหนามหนา และใหญ่

ลักษณะของดอก

เป็นสายพันธุ์ที่ออกดอกได้เรื่อยๆ ตลอดทั้งปี ดอกมี 3 สี ชมพู เหลือง ขาว ที่พบบ่อยคือ สีชมพู ดอกใหญ่ สีกลีบ มันเงา กลีบดอกยาว จะเริ่มบานตั้งแต่สาย และบานเต็มทีในช่วงบ่าย ดอกหุบในตอนเย็น บาน 1- 2 วัน

การขยายพันธุ์

ผสมเกสร เมื่อติดฝักนำไปเพาะ ขยายพันธุ์ หรือใช้การเด็ดหน่อชำ

สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

สกุลโครีแฟนทา หรือที่ในบ้านเราเรียกกันว่า ช้างแคคตัส ชอบแดดจัด 75-90% อากาศถ่ายดีได้ไม่อับชื้น ยิ่งมีลมโกรก ก็จะช่วยป้องการเกิดโรคได้ดี สิ่งสำคัญคือ การวางต้น ควรมีการเว้นระยะไม่ให้แออัด แสงแดดส่องถึงได้ทั่ว ไม่เช่นนั้นจะผิวเสีย และเป็นโรคได้ง่าย ดินที่ปลูกต้องมีความโปร่ง ไม่เก็บความชื้นเยอะ ชอบน้ำมากว่าสายพันธุ์อื่นๆ หากต้องการให้ต้นโต เต้าใหญ่ แข็งแรง ต้องบำรุงด้วยปุ๋ย

โรค และศัตรูพืชที่พบบ่อย

ไรแดง, เพลี้ยหอย, เพลี้ยแป้ง, โรคจากแบคทีเรีย

กระบองเพชร สกุล แอสโตรไฟตัม (Astrophytum) การเลี้ยง และดูแล


กระบองเพชร (แคคตัส) สกุล แอสโตรไฟตัม ( Astrophytum ) เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์กระบองเพชรที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย และมีการพัฒนาสายพันธุ์ อยู่เรื่อยๆ จนทำให้มีทรง และลวดลายแปลกตามากขึ้น

ลักษณะของต้น

ลักษณะที่โดดเด่นของต้นคือ ผิวสีเขียวเข้มสด ตัดกับลายบนต้นที่เป็นสีขาว ลวดลายมากมายแปลกตา ตามที่ได้พัฒนา และผสมพันธุ์ มีดอทปุย เป็นตุ่มขนขึ้นบนผิวต้น มีชนิดที่มีหนามและไม่มีหนาม แต่ที่นิยมและมีผู้เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์กันมากจะเป็นชนิดที่ไม่มีหนามอย่าง แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส ( A.asterias ) , แอสโตรไฟตัม ไมริโอสตริกมา ( A.myriostigma )



แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส มีการพัฒนาสายพันธุ์จากญี่ปุ่น จนทำให้เกิดลวดลายบนต้นที่แตกต่าง แตกย่อยอีกมากมาย โดยจะมีชื่อเรียกกันตามลักษณะ

KABUTO ( คาบุโตะ ) ลักษณะ : จะมีลวดลายขาวประปราย กระจายทั่ว ดอทต้นขนาดเล็ก เรียงตามเส้นพู ของต้น

• SUPER KABUTO ( ซูเปอร์คาบุโตะ) ลักษณะ : มีลายสีขาวหนา แน่น กว่าคาบุโตะปกติ ปื้นสีขาวมีลายหนา แปลกตา

• V-TYPE ( วีไทป์ ) ลักษณะ : มีลายสีขาวเป็นรูปตัวอักษรวี (V) เรียงไล่ตามดอท ตามแนวของพู หากต้นไม่มีลวดลาย เป็นสีเขียวและมีเพียงลายวี สีขาว จะเรียกว่า วีนูดัม ( V-Nudum )

• NUDUM ( นูดัม ) ลักษณะ : ผิวของต้นจะเกลี้ยงเขียว ไม่มีลาย หรือจุดสีขาวบนต้นเลย มีเพียงดอทปุย

• HANAZONO ( ฮานะโซโนะ ) ลักษณะ : มีดอทปุยเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วต้น มีลวดลายต่างๆ ไม่ซ้ำกัน ซึ่งดอทที่กระจายอยู่นี้ทำให้สร้างตาดอกได้หลายตำแหน่งมากกว่าปกติ จึงเป็นแอสโตรที่มีตำแหน่งการออกดอกได้ทั่วต้น ต่างกับแอสโตรปกติที่จะออกดอกที่ตุ่มหนามปลายยอดของต้น

• RENSEI ( เรนเซ ) ลักษณะ : ดอทปุย ตุ่มขน เรียงชิดติดกันมีลักษณะคล้าย “สร้อย” โดยปกติหากเป็น KABUTO ทั่วไป ดอทจะไม่เรียงชิดติดกัน จะมีระยะห่างระหว่างดอท

• OOIBO ( โออิโบะ ) ลักษณะ : ดอทปุย ตุ่มหนาม มีขนาดใหญ่กว่าปกติมาก และถ้าเป็นดอทที่ใหญ่กว่าปกติ และเรียงชิดกันเป็นสร้อย ก็จะเรียกว่า OOIBO RENSEI ( โออิโบะ เรนเซ )

• KIKKO ( กิ๊กโกะ ) ลักษณะ : ตุ่มหนามเป็นบั้ง และหยักเว้าเป็นร่องลึก และกว้างต่างกันไป มีลักษณะของสันพูที่แบ่งกันระหว่างแต่ละตุ่มหนาม คล้ายกับกระดองเต่า

• EKUBO ( คุโบะ ) ลักษณะ : มีรอยขีดสั้นๆ ขวาง ระหว่างพู หรือใต้ดอทหนาม เรียงตามพูคล้าย “ลักยิ้ม”

• FUKURYU ( ฟุคุริว ) ลักษณะ : ผิวยับย่น ขึ้นเป็นริ้วหยัก ซ้อนกันไป

• FUKURYO ( ฟุคุเรียว ) ลักษณะ : มีพูแทรกจากปกติ หรือพูเล็กๆ เหมือนติ่ง แทรกอยู่ในระหว่างพูใหญ่ปกติ

SNOW ( สโนว์ ) ลักษณะ : มีลาย หรือขนสีขาวขนาดติดกันเป็นปื้นใหญ่ จำนวนมากปกคลุมผิวของต้นแทนจะมองไม่เห็นสีเขียวของต้น

• STAR SHAPE ( สตาร์ เชฟ ) ลักษณะ : ลำต้นจะไม่กลมเหมือนแอสโตรทั่วไป จะมีความเว้าลึกระหว่างพู ที่เว้าไปจนถึงโคนต้น หากวางต้นหงายขึ้นจะเห็นรองระหว่างพูที่เว้าชัดเจน มองจากด้านบนลักษณะเหมือนดาว ต่างกับแอสโตรปกติที่เป็นลักษณะกลม

ส่วนที่เป็นแอสโตรไฟตัม ที่มีหนาม ได้แก่ แคปริคอร์น ( A.capricorne ), ออร์นาตัม ( A.arnatum ) เมื่อต้นยืนอายุมากต้นจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ลักษณะของดอก

ดอกมีเรื่อยๆ ในทุกฤดู แต่จะมากในฤดูร้อน ที่เหมาะเป็นการผสมพันธุ์ ดอกบานในช่วงเที่ยง-บ่าย และหุบตอนเย็น ดอกบาน 1-3 วันก็จะโรย เมื่อมีการผสมเกสรติดดอกจะปิดทันที มีดอกเป็นสีเหลืองส่วนใหญ่ แต่จะมีพบเป็นสีชมพู หรือชมพูโทนแดงได้ด้วย แต่จะค่อนข้างหายากกว่าสีเหลือง และจะมีชื่อเรียก ดอกสีชมพูโทนแดงว่า AKABANA ( อคาบานะ ) กลีบดอกปกติ จะยาวกว้าง ปลาย ขอบกลีบดอกเรียบ หากมีหยักหรือริ้ว จะเรียกว่า ดอกขนนก ซึ่งจะหาได้ยาก ดอกที่มีลักษณะแปลก และพบได้ยากอีกแบบคือ ดอกชินโชวะ ( Shinshowa ) ลักษณะของกลีบดอกจะเล็กเรียวเป็นเส้นฝอย

การขยายพันธุ์

ผสมเกสร ติดฝัก นำไปเพาะเมล็ด เป็นการผสมข้ามต้น และสามารถผสมข้ามชนิดกันได้ที่เป็นสกุลเดียวกัน เช่น แอสทีเรีย ผสมกับ ไมริโอสตริกมา ก็จะได้มาเป็นลูกผสม ที่มีลักษณะเด่นของทั้ง 2 ออกมาในรุ่นลูก ลูกผสมจะเรียกกันว่า Hybird (ไฮปริด)

สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

แอสโตร เป็นไม้ที่ค่อนข้างชอบชื้นกว่า กระบองเพชรทั่วไป ไม่ชอบแดดแรง หากเลี้ยงแดดจัดจะทำให้ผิวไหม้ง่าย หรือไม่เป็นสีเขียวใส เว้นแต่ในต้นที่มีลายขาวปกคลุมมาก หรือสโนว์ ที่จะทนแดดได้ดีกว่าไม้ที่มีผิวเขียวเยอะ ฉะนั้นการเลี้ยงจึงควรพลางแสง ด้วยสแลน หรือเป็นแดด 60-70% จะทำให้ไม้มีผิวที่สวยไม่กร้านแดด

ดินโปรงชื้น แต่ไม่แฉะ ดินไม่ชุ่มน้ำนาน ระบายความชื้นได้ดี รดน้ำเมื่อดินแห้ง ช่วงหน้าฝนต้องระวังไม่ให้ดินมีความชื้นมากเพราะจะเกิดคราบน้ำโคนต้น หรือโรคที่เกิดจากแบคทีเรียบางอย่างได้ เมื่อเกิดรอยแผลแล้วจะเป็นแผลตลอดรักษาไม่หาย นอกจากรอให้ต้นโต และผิวไล่ลงโคนต้น และเมื่อถึงระยะเปลี่ยนดิน หรือต้นโตคับกระถางควรเปลี่ยนดิน ขยายขนาดกระถาง เพื่อให้ต้นไม่ชะงักการโต หากปล่อยไว้นาน รากแน่น ความชื้นไม่พอจะทำให้โคนต้นยุบได้ง่าย และหากรากไม่มีการกระตุ้น หรืออ่อนแอ จะโดนโรค หรือศัตรูพืช รุ่มเร้าได้ง่าย

โรค และศัตรูพืชที่พบบ่อย

เพลี้ยแป้ง กัดกินราก และต้น, เพลี้ยญี่ปุ่น กินยอด , เพลี้ยหอย เกาะต้น, แคงเกอร์ เกาะ กัดกินผิว, หนู ที่ค่อยกัดกินต้น และกินฝักเมื่อผสมเกสรติด

กระบองเพชร สกุล แมมมิลลาเรีย (Mammillaria ) การเลี้ยง และดูแล


ลักษณะของต้น

เป็นสกุลกระบองเพชรที่มีความหลากหลายของลักษณะ มีทั้งชนิดที่มีหนามแหลม และเป็นขนหนามอ่อนนุ่ม ลักษณะ โครงสร้าง ลำต้น มีเนื้อแกนกลาง แตกออกเป็นตุ่ม และมีหนาม หรือขนหนาม ที่ปลายตุ่ม ขนหมามมีทั้งสีขาว สีเหลืองทอง หรือออกโทนแดง แล้วแต่ชนิดของต้น ซึ่งตุ่มหนามแมมมิลลาเรียบางชนิด สามารถนำมาชำเพื่อขยายพันธุ์ได้ เช่น แมมขนนก

ช่องว่างระหว่างตุ่มหนาม โดยส่วนมากจะมีเป็นปุยขาวลักษณะคล้ายปุยนุ่นสำลีแทรกอยู่ ด้วยลักษณะของแมมมิลลาเรียที่ลำต้นมีเนื้อเยื้อแกนกลางลำต้นค่อนข้างน้อย และอ่อนนุ่ม ธรรมชาติของต้นจึงสร้างปุยขึ้นมาเพื่อปกป้องไม่ให้แกนลำต้นโดนแสงแดดมากเกินพอดี เมื่อเจริญเติบโตอายุมากจะแตกหน่อเป็นกอใหญ่ขยายขึ้นเรื่อยๆ

ลักษณะของดอก

แมมมิลลาเรีย สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นและสารอาหารที่เพียงพอ แต่ฤดูที่มีดอกเยอะ เหมาะกับการขยายพันธุ์ที่สุดคือ ฤดูหนาว ลักษณะการออกดอกจะออกเป็นวงรอบ ต้นหรือหน่อครอบคล้ายลักษณะของมงกุฎ สีของดอกที่พบได้บ่อยคือ ขาว และชมพู ม่วง มีโทนออกแดงเข้มบ้าง แต่จะพบได้น้อยกว่า ดอกจะบานในช่วงตอน สายๆจนถึงเย็น และหุบ ระยะเวลาออกดอก 2-3 วัน ก็จะโรย

การขยายพันธุ์

เพาะเมล็ด ชำหน่อ ปาดยอดให้แตกกอ หรือ ออกหน่อเพิ่ม และมีในบางชนิดสามารถติดฝักได้เองโดยไม่ต้องผสม เช่น แมมพิกุล แมมนิโวซา ซึ่งสกุลแมมมิลลาเรีย จะมีไม้ที่เป็นลูกผสม หรือ ไฮปริด ( Hybrid ) ค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นไม้ที่ได้จากการผสมข้ามชนิด จึงทำให้มีความหลากหลายในลักษณะของขนหนาม โดยลูกที่ออกมานั้น จะมีลักษณะเด่นของทั้ง 2 ชนิดผสมกัน

สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

แมมมิลลาเรียเป็นไม้ที่ชอบแดดค่อนข้างจัด 70-80 % ชั่วโมงแดดยาวนานต่อเนื่อง 6-8 ชั่วโมง หากเลี้ยงแสงแดดน้อยขนหนามจะกางออก เพื่อพยายามรับแสงมากขึ้น ที่ทำให้ขนหนามไม่แน่นฟู ฟอร์มต้นจะไม่กระชับ ต้นไม่สวยลำต้นยืดยาว ไม่กลมมน

เป็นกระบองเพชรที่ไม่ชอบความชื้นเยอะ ดินที่ใช้ปลูก ต้องโปร่ง ระบายความชื้น และอากาศภายในดินถ่ายเทได้ดี หากมีความชื้นสูงแต่เสี่ยงกับโรคเน่า หรือเชื้อราได้ สามารถเว้นระยะการรดน้ำได้นานกว่ากระบองเพชรชนิดอื่นๆ วิธีการดน้ำ คือให้รดจนชุ่มจนน้ำไหลออกรูก้นกระถาง รดน้ำครั้งถัดไปเมื่อดินแห้ง

และถ้าหากต้องการกระตุ้นการออกดอกจะใช้วิธีอดน้ำ เพื่อกระตุ้นสภาพการอยู่รอด จะช่วยให้กระตุ้นการออกดอก เพื่อขยายเผ่าพันธุ์ โดยการอดน้ำนานกว่าปกติที่เคยรด แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ซึ่งต้องดูระยะการอดน้ำ และปรับตามสภาพแวดล้อมของแต่สถานที่เลี้ยง ซึ่งจะไม่การนับวัน หรือสูตรที่ตายตัว ซึ่งการใช้การกระตุ้นด้วยวิธีควรดูว่าต้นไม้แข็งแรง ไม่อยู่ในช่วงป่วย หรือพักฟื้น

อีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้เลี้ยงแมมมิลลาเรียได้สวยก็คือควรจะมีโรงเรือน จะเป็นระบบเปิด หรือปิดก็ได้ แต่หากเลี้ยงเป็นระบบปิดควรจะมีระบบระบายอากาศภายในเพื่อป้องกันความชื้น หรืออากาศอบอ้าวภายในโรงเรือน ที่จะเป็นสาเหตุ ให้เน่าง่ายได้เหมือนกัน เนื่องจากแมมมิลลาเรียไม่เหมาะกับการเลี้ยงที่โดนฝนโดยตรง เพราะมีโอกาสที่จะทำให้ต้นเน่าหรือเชื้อราได้ง่าย ฉะนั้นการมีโรงเรือนจะทำให้การควบคุม อุณหภูมิ น้ำ และปรับแสงง่ายต่อการเลี้ยงดู

ลักษณะของดอก
โรค และศัตรูพืช

เพลี้ย, ไรแดง, ราที่เกิดจากความชื้นในช่วงฤดูฝน

บทความที่เกี่ยวข้องผสมเกสรแมมมิลลาเรีย (MAMMILLARIA) ง่ายๆ ให้ติด ฝัก นำไปเพาะเมล็ดด้วย ปลายพู่กัน >>คลิก<<