ดอกของเจ้ากระบองเพชร Cactus (แคคตัส) เสน่ห์ที่ใครหลายคนโดนตกให้หลงรัก


นอกจากความสวยงามในรูปร่างหน้าตาที่แปลกตา และมีความหลากหลายของเจ้ากระบองเพชรแล้ว ก็มีใครหลายคนที่หลงเสน่ห์เวลาที่เขาออกดอก ด้วยความน่ารัก ที่เวลาเขาออกดอก ทำให้ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมบางคนถึงกับหลงรักแบบหัวปักหัวปรำ ซึ่งการที่กระบองเพชรจะมีดอกได้ นั้นมีปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่ต้องมาจากการเลี้ยงดู และสายพันธุ์ อายุ ฤดูกาล เป็นหลัก

หากใครที่ชอบชื่นชมดอกของเจ้ากระบองเพชร แนะนำให้เลี้ยงชนิดที่ ออกดอกได้บ่อย อาทิเช่น ตระกูล โลบิเวีย, แมมมิลลาเรีย, (บางชนิด) ยิมโนคาลิเซียม, โครีแฟนทา, รีบูเทีย

สิ่งสำคัญที่จะทำให้กระบองเพชร ออกดอกคือ แสงแดด และสารอาหารที่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักและสำคัญ รองลงมาคือ เทคนิคต่างๆ เช่น การอดน้ำในบางช่วงที่จะช่วยกระตุ้นให้เขาเข้าสู่สภาวะการเอาตัวรอด เพื่อขยายพันธุ์ ก็จะทำให้เขาออกดอกได้มาก และเยอะกว่าปกติ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง >> เลี้ยงกระบองเพชรยังไงให้ออกดอก ??

ขอขอบคุณที่มาภาพ : pinterest, google

วิธีดูรากกระบองเพชร (แคคตัส) รากแบบไหนดี หรือมีปัญหา


สาเหตุสำคัญในการเลี้ยงกระบองเพชรอีกอย่างที่เราไม่ควรมองข้าม หากต้องการให้ต้นสมบูรณ์แข็งแรง ก็คือ ระบบของราก ซึ่งเปรียบเสมือนกลไกหัวใจหลักของต้น ที่ทำหน้าที่ในการดูดซึมอาหาร และแร่ธาตุที่จำเป็นต่างๆ ไปเลี้ยงต้น หากรากมีคุณภาพดี ก็จะส่งผลที่ดีโดยตรงต่อต้น

แล้วอะไร?? ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้รากสมบูรณ์ คุณภาพดี

ปัจจัยหลักอย่างแรกคือ ดิน ที่เปรียบเสมือนเป็น บ้าน และห้องอาหาร ดินที่ดีควรมี แร่ธาตุ อากาศหมุนเวียน และระบบนิเวศในดินที่ดี กักเก็บความชื้นในเหมาะสมกับชนิดของต้น ซึ่งจะมีลักษณะเนื้อดินที่ร่วนซุ่ย ไม่เกาะตัวกันง่าย มีความชุ่มชื้น แต่ไม่แฉะ เมื่อรดน้ำทิ้งไว้สัก 1-2 วัน ดินจะต้องไม่เปียกชุ่ม หากเปรียบเปรยให้เห็นภาพ เหมือนผ้าที่ชุบน้ำแล้วบิด ดินจะมีลักษณะหมาดๆ แต่ไม่อมน้ำ เพราะถ้าหากดินแห้งติดต่อกันนานเกินไป อาจจะทำให้รากฝอยตาย หรือรากแห้งได้

ซี่งรากฝอยที่ทำให้การดูดซึม ความชื้น และแร่ธาตุ จะเป็นส่วนที่แห้งง่าย เมื่อปล่อยให้ดินแห้งเกินเป็นเวลานานก็จะทำให้รากส่วนนี้ตายได้ หรือในทางกลับกัน หากมีความชื้นเยอะ ซึ่งไม้อวบน้ำไม่ต้องการการความชื้นมาก รากฝอยก็จะเน่า

วิธีสังเกตเบื้องต้นได้ง่ายๆ จากหน้าดิน ว่ารากของต้นไม้มีปัญหาหรือไม่


คือ การสังเกตระยะเวลาการแห้งของดิน ( ในกรณีที่ใช้ดินญี่ปุ่นโรยหน้ากระถาง จะทำให้เห็นความชื้นในดิน จากสีของดินได้ง่าย ) หากต้นที่เรารดน้ำพร้อมๆ กัน ดินค่อยๆ ทยอย เริ่มแห้งแล้ว แต่จะสังเกตได้ว่า ต้นที่มีปัญหา ดินจะยังคงชื้นอยู่ตลอดเวลา อาจสันนิษฐานได้ว่า รากอาจมีปัญหา จึงทำให้การดูดซึมช้าลง

หรือสังเกตจากโคนต้นที่เริ่มยุบ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว หากได้รับน้ำเป็นปกติ แล้วตรงโคนต้นยังยุบ หรือย่นอยู่ นั่นอาจจะมีสาเหตุมาจากราก ซึ่งปัญหาที่พบได้บ่อย ก็คือ มีศัตรูพืช เช่นเพลี้ยแป้ง เกาะกินทำให้รากเสียหาย หรือต้นที่ไม่ได้รับการเปลี่ยนกระถางนาน รากแน่น เนื้อดินน้อยจนไม่สามารถเก็บความชุ่มชื้นได้

ซึ่งในการเปลี่ยนกระถาง จึงมีการแนะนำให้ตัดแต่งรากก่อนปลูก เพื่อกระตุ้นการเกิดรากใหม่ ที่จะมีประสิทธิภาพกว่า รากเดิมที่อาจจะเสื่อมสภาพ หรือเสียหายจากศัตรูพืช

แต่มีกรณียกเว้น หากต้นที่รากปกติ และเพิ่งเปลี่ยนดินมาไม่นาน แต่ต้นโตเร็ว และไม่อยากตัดรากให้ต้นชะงัก หรือต้องฟื้นตัวใหม่ ก็จะสามารถเปลี่ยนกระถางได้เลยโดยไม่ต้องตัดแต่งราก แต่ให้เว้นระยะ การรดน้ำแบบชุ่มในช่วงแรก แต่ให้โชยน้ำเพื่อรักษาความชุ่มชื่นในดินช่วงแรก ในระหว่างที่ต้นกำลังฟื้นตัว ประมาณ 7-12 วัน หลังจากสังเกตว่าระบบราก เซตตัวได้ดีแล้ว จึงรดน้ำตามปกติ

คำถามที่จะพบบ่อย ว่า แล้วหากต้นโคนยุบ จะต้องทำอย่างไร

หากเป็นการยุบไม่มากจาก รากที่เก่าเสื่อมสภาพ หลังจากตัดแต่งราก และลงปลูก จนต้นฟื้นตัว โคนต้นก็จะกลับมาเต่งตึงตามปกติ หากโคนยุบเยอะมากเท่าไหร่ก็ต้องใช้ระยะเวลาฟื้นฟูนานเท่านั้น อีกวิธีที่ใช้กระตุ้นรากให้งอกและฟื้นเร็ว คือการใช้ความชื้นมากขึ้นเพื่อล่อรากให้งอกด้วยวัสดุที่กักเก็บความชื้นได้ดีเช่น เม็ดดินเผา

บทความที่เกี่ยวข้องวิธีรักษา และอาการต้นเหี่ยว โคนยุบ ของแคคตัส (กระบองเพชร) >> คลิก <

กระบองเพชร สกุล แอสโตรไฟตัม (Astrophytum) การเลี้ยง และดูแล


กระบองเพชร (แคคตัส) สกุล แอสโตรไฟตัม ( Astrophytum ) เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์กระบองเพชรที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย และมีการพัฒนาสายพันธุ์ อยู่เรื่อยๆ จนทำให้มีทรง และลวดลายแปลกตามากขึ้น

ลักษณะของต้น

ลักษณะที่โดดเด่นของต้นคือ ผิวสีเขียวเข้มสด ตัดกับลายบนต้นที่เป็นสีขาว ลวดลายมากมายแปลกตา ตามที่ได้พัฒนา และผสมพันธุ์ มีดอทปุย เป็นตุ่มขนขึ้นบนผิวต้น มีชนิดที่มีหนามและไม่มีหนาม แต่ที่นิยมและมีผู้เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์กันมากจะเป็นชนิดที่ไม่มีหนามอย่าง แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส ( A.asterias ) , แอสโตรไฟตัม ไมริโอสตริกมา ( A.myriostigma )



แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส มีการพัฒนาสายพันธุ์จากญี่ปุ่น จนทำให้เกิดลวดลายบนต้นที่แตกต่าง แตกย่อยอีกมากมาย โดยจะมีชื่อเรียกกันตามลักษณะ

KABUTO ( คาบุโตะ ) ลักษณะ : จะมีลวดลายขาวประปราย กระจายทั่ว ดอทต้นขนาดเล็ก เรียงตามเส้นพู ของต้น

• SUPER KABUTO ( ซูเปอร์คาบุโตะ) ลักษณะ : มีลายสีขาวหนา แน่น กว่าคาบุโตะปกติ ปื้นสีขาวมีลายหนา แปลกตา

• V-TYPE ( วีไทป์ ) ลักษณะ : มีลายสีขาวเป็นรูปตัวอักษรวี (V) เรียงไล่ตามดอท ตามแนวของพู หากต้นไม่มีลวดลาย เป็นสีเขียวและมีเพียงลายวี สีขาว จะเรียกว่า วีนูดัม ( V-Nudum )

• NUDUM ( นูดัม ) ลักษณะ : ผิวของต้นจะเกลี้ยงเขียว ไม่มีลาย หรือจุดสีขาวบนต้นเลย มีเพียงดอทปุย

• HANAZONO ( ฮานะโซโนะ ) ลักษณะ : มีดอทปุยเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วต้น มีลวดลายต่างๆ ไม่ซ้ำกัน ซึ่งดอทที่กระจายอยู่นี้ทำให้สร้างตาดอกได้หลายตำแหน่งมากกว่าปกติ จึงเป็นแอสโตรที่มีตำแหน่งการออกดอกได้ทั่วต้น ต่างกับแอสโตรปกติที่จะออกดอกที่ตุ่มหนามปลายยอดของต้น

• RENSEI ( เรนเซ ) ลักษณะ : ดอทปุย ตุ่มขน เรียงชิดติดกันมีลักษณะคล้าย “สร้อย” โดยปกติหากเป็น KABUTO ทั่วไป ดอทจะไม่เรียงชิดติดกัน จะมีระยะห่างระหว่างดอท

• OOIBO ( โออิโบะ ) ลักษณะ : ดอทปุย ตุ่มหนาม มีขนาดใหญ่กว่าปกติมาก และถ้าเป็นดอทที่ใหญ่กว่าปกติ และเรียงชิดกันเป็นสร้อย ก็จะเรียกว่า OOIBO RENSEI ( โออิโบะ เรนเซ )

• KIKKO ( กิ๊กโกะ ) ลักษณะ : ตุ่มหนามเป็นบั้ง และหยักเว้าเป็นร่องลึก และกว้างต่างกันไป มีลักษณะของสันพูที่แบ่งกันระหว่างแต่ละตุ่มหนาม คล้ายกับกระดองเต่า

• EKUBO ( คุโบะ ) ลักษณะ : มีรอยขีดสั้นๆ ขวาง ระหว่างพู หรือใต้ดอทหนาม เรียงตามพูคล้าย “ลักยิ้ม”

• FUKURYU ( ฟุคุริว ) ลักษณะ : ผิวยับย่น ขึ้นเป็นริ้วหยัก ซ้อนกันไป

• FUKURYO ( ฟุคุเรียว ) ลักษณะ : มีพูแทรกจากปกติ หรือพูเล็กๆ เหมือนติ่ง แทรกอยู่ในระหว่างพูใหญ่ปกติ

SNOW ( สโนว์ ) ลักษณะ : มีลาย หรือขนสีขาวขนาดติดกันเป็นปื้นใหญ่ จำนวนมากปกคลุมผิวของต้นแทนจะมองไม่เห็นสีเขียวของต้น

• STAR SHAPE ( สตาร์ เชฟ ) ลักษณะ : ลำต้นจะไม่กลมเหมือนแอสโตรทั่วไป จะมีความเว้าลึกระหว่างพู ที่เว้าไปจนถึงโคนต้น หากวางต้นหงายขึ้นจะเห็นรองระหว่างพูที่เว้าชัดเจน มองจากด้านบนลักษณะเหมือนดาว ต่างกับแอสโตรปกติที่เป็นลักษณะกลม

ส่วนที่เป็นแอสโตรไฟตัม ที่มีหนาม ได้แก่ แคปริคอร์น ( A.capricorne ), ออร์นาตัม ( A.arnatum ) เมื่อต้นยืนอายุมากต้นจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ลักษณะของดอก

ดอกมีเรื่อยๆ ในทุกฤดู แต่จะมากในฤดูร้อน ที่เหมาะเป็นการผสมพันธุ์ ดอกบานในช่วงเที่ยง-บ่าย และหุบตอนเย็น ดอกบาน 1-3 วันก็จะโรย เมื่อมีการผสมเกสรติดดอกจะปิดทันที มีดอกเป็นสีเหลืองส่วนใหญ่ แต่จะมีพบเป็นสีชมพู หรือชมพูโทนแดงได้ด้วย แต่จะค่อนข้างหายากกว่าสีเหลือง และจะมีชื่อเรียก ดอกสีชมพูโทนแดงว่า AKABANA ( อคาบานะ ) กลีบดอกปกติ จะยาวกว้าง ปลาย ขอบกลีบดอกเรียบ หากมีหยักหรือริ้ว จะเรียกว่า ดอกขนนก ซึ่งจะหาได้ยาก ดอกที่มีลักษณะแปลก และพบได้ยากอีกแบบคือ ดอกชินโชวะ ( Shinshowa ) ลักษณะของกลีบดอกจะเล็กเรียวเป็นเส้นฝอย

การขยายพันธุ์

ผสมเกสร ติดฝัก นำไปเพาะเมล็ด เป็นการผสมข้ามต้น และสามารถผสมข้ามชนิดกันได้ที่เป็นสกุลเดียวกัน เช่น แอสทีเรีย ผสมกับ ไมริโอสตริกมา ก็จะได้มาเป็นลูกผสม ที่มีลักษณะเด่นของทั้ง 2 ออกมาในรุ่นลูก ลูกผสมจะเรียกกันว่า Hybird (ไฮปริด)

สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

แอสโตร เป็นไม้ที่ค่อนข้างชอบชื้นกว่า กระบองเพชรทั่วไป ไม่ชอบแดดแรง หากเลี้ยงแดดจัดจะทำให้ผิวไหม้ง่าย หรือไม่เป็นสีเขียวใส เว้นแต่ในต้นที่มีลายขาวปกคลุมมาก หรือสโนว์ ที่จะทนแดดได้ดีกว่าไม้ที่มีผิวเขียวเยอะ ฉะนั้นการเลี้ยงจึงควรพลางแสง ด้วยสแลน หรือเป็นแดด 60-70% จะทำให้ไม้มีผิวที่สวยไม่กร้านแดด

ดินโปรงชื้น แต่ไม่แฉะ ดินไม่ชุ่มน้ำนาน ระบายความชื้นได้ดี รดน้ำเมื่อดินแห้ง ช่วงหน้าฝนต้องระวังไม่ให้ดินมีความชื้นมากเพราะจะเกิดคราบน้ำโคนต้น หรือโรคที่เกิดจากแบคทีเรียบางอย่างได้ เมื่อเกิดรอยแผลแล้วจะเป็นแผลตลอดรักษาไม่หาย นอกจากรอให้ต้นโต และผิวไล่ลงโคนต้น และเมื่อถึงระยะเปลี่ยนดิน หรือต้นโตคับกระถางควรเปลี่ยนดิน ขยายขนาดกระถาง เพื่อให้ต้นไม่ชะงักการโต หากปล่อยไว้นาน รากแน่น ความชื้นไม่พอจะทำให้โคนต้นยุบได้ง่าย และหากรากไม่มีการกระตุ้น หรืออ่อนแอ จะโดนโรค หรือศัตรูพืช รุ่มเร้าได้ง่าย

โรค และศัตรูพืชที่พบบ่อย

เพลี้ยแป้ง กัดกินราก และต้น, เพลี้ยญี่ปุ่น กินยอด , เพลี้ยหอย เกาะต้น, แคงเกอร์ เกาะ กัดกินผิว, หนู ที่ค่อยกัดกินต้น และกินฝักเมื่อผสมเกสรติด

กระบองเพชร ไม้อวบน้ำ สกุล และสายพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย ดูแลไม่ยาก เหมาะกับมือใหม่


สำหรับมือใหม่ ที่ต้องการเริ่มหัดเลี้ยง กระบองเพชร ( แคคตัส ) แนะนำให้เริ่มปลูกจากสกุล หรือชนิดที่ดูแลได้ง่ายก่อน เริ่มจากชนิดที่ราคาไม่สูงมาก ดูแลง่าย เพื่อเป็นการค่อยๆ ศึกษาวิธีการเลี้ยง ขยายพันธุ์ รักษาโรค หรืออาการป่วย และสภาพแวดล้อมในการปลูกให้เหมาะสม ให้มีความชำนาญ

สกุล แมมมิลลาเรีย ( Mammillaria ) ในภาพเป็น นิโวซา ( M. nivosa ) หรือเรียกกันว่า แมมเข็มทอง แมมหนามทอง หนามสีทองเป็นหนามแข็ง หนามคม ติดดอกง่าย ดอกเล็กๆ ออกรอบวงของต้น ดอกสีขาว มีดอกออกเรื่อยๆ สามารถติดฝักได้เอง โดยไม่ต้องผสม ชอบแดด 70-80% หากเลี้ยงได้แดดดี ต้นจะฟอร์มกระชับ หนามถี่และแน่น สีทองสวยงาม ในระหว่างช่องตุ่มหนามจะมีปุยขาว หากไม่แยกหน่อไปปลูกก็จะเป็นไม้ฟอร์มกอโต

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด และการชำหน่อ สามารถเด็ดหน่อ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


สกุล โอพันเทีย ( Opantia ) ในภาพเป็น ไมโครดาซิส ( O.microdasys ) หรือที่เรียกันว่า หนูกระต่าย, เสมาเงิน, หูกระต่ายขาว ลักษณะมีตุ่มขนหนามขนาดเล็กกระจายตัวออกมาเป็นกลุ่ม ซึ่งขนหนามนี้ต้องระวังไม่ควรใช้มือสัมผัสโดยตรงเพราะจะติดกับผิวหนังและทำให้เกิดการระคายเคืองได้ ชอบแดด 80-100% หากได้รับแสงแดดเพียงพอ ขนหนามจะยิ่งฟูแน่น ใบกลมไม่ยืดยาว

การขยายพันธุ์ : ใช้การปักชำ สามารถเด็ดใบ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกใบ แตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


สกุล แมมมิลลาเรีย ( Mammillaria ) ในภาพเป็น ไซเดียนา ( M.schiedeana ) หรือที่เรียกันว่า แมมขนนกเหลือง ขนหนามเป็นกระจุก และบานออก ขนหนามมีความอ่อนนุ่มไม่แหลมคม สีขนหนามมีความเข้มอ่อนต่างกันตามแต่ที่ผสมพันธุ์กันมา ดอกเล็กๆออกรอบวงของต้น ดอกออกเรื่อยๆ ทุกฤดู แต่จะมากเป็นพิเศษในฤดูหนาว สีของดอกมีหลายหลายสี ที่พบบ่อยคือ สีขาว และชมพู ส่วนสีออกชมพูอมแดง หรืออมม่วงนั้นจะพบได้ยากกว่า เมื่อโต และไม่ได้แยกหน่อไปปลูก จะเป็นฟอร์มกอ หัวกลมขนาดไม่ใหญ่มากแตกออกเป็นพุ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ชอบแดด 80-90% หากต้องการให้ได้ฟอร์มกลมสวย ต้องเลี้ยงให้ได้รับแสงแดดยาว นาน 6-8 ชม.ต่อวัน ไม่ค่อยชอบชื้น เว้นการรดน้ำได้นาน กว่ากระบองเพชรชนิดอื่นๆ

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด และการชำหน่อ สามารถเด็ดหน่อ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


สกุล ยิมโนคาไลเซียม ( Gymnocalycium ) ในภาพเป็น มิฮาโนวิชิอาย ( Minanovichii ) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า ยิโนมิฮา ต้นพื้นฐานจะมีสีเขียว และมีที่เป็นไม้ด่าง หากเป็นมือใหม่การเลี้ยงไม้เขียวจะง่ายกว่าการเลี้ยงไม้ด่าง ยิมโนจะชอบความชื้นมากกว่ากระบองเพชรสายพันธุ์อื่นๆ แดด 60-80% ผิวไม้จะเขียวสวยกว่าการเลี้ยงแดดแรง สามารถเลี้ยงแดดแรงได้ หรือเลี้ยงตามธรรมชาติแบบแดด100% ฝน100% แต่ผิวของไม้อาจจะไหม้แดดง่าย หรือผิวกร้านไม่เขียวใส จะมีดอก และหน่อ งอกตามตุ่มหนาม ดอกจะออกมาในช่วงฤดูร้อน ดอกหลักๆ มี 2 สี คือ ขาว และชมพู แต่จะมีหลากหลายโทนและเฉด

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด และการชำหน่อ สามารถเด็ดหน่อ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


สกุล อิชินอปซิส ( Echinopsis ) ในภาพเป็น ซับเดนูดาตา ( E.subdenudata ) เป็นแคคตัสที่เลี้ยงได้ง่าย ชอบชื้นแต่ไม่แฉะ อากาศถ่ายเทดีอยู่ได้ทั้งแดด 60% จนถึงเลี้ยงกลางแจ้งแดด 100% แต่ถ้าหากเลี้ยงแดดแรงต้องหมั่นรดน้ำ เพราะหากขาดน้ำต้นจะซีดเหลืองไหม้แดดได้ง่าย เป็นไม้ที่แตกกอ แตกหน่อยได้ง่ายเมื่ออายุถึงวัย ดอกสีขาวใหญ่ มีกลิ่นหอมอ่อน สดชื่นๆ เมื่อดมใกล้ๆ ดอกจะบานในตอนกลางคืน และโรยในตอนเที่ยง

การขยายพันธุ์ : ชำหน่อ สามารถเด็ดหน่อ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


กระบองเพชรทั้งหมดนี้ใช้วัสดุปลูกเหมือนกัน แตกต่างกันตรงการให้น้ำ และแสงแดดที่ต้องการ วัสดุปลูกควรเป็น ดินกระบองเพชร โดยเฉพาะ เพราะจะมีคุณลักษณะเครื่องปลูกที่โปร่ง และระบายน้ำ ความชื้น ในการปลูกควรรองก้นกระถางเพื่อให้ดินระบายความชื้นได้ดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

• วัสดุที่ใช้ปลูก ไม้อวบน้ำ กระบองเพชร (แคคตัส) มีอะไรบ้าง ใช้ทำอะไรบ้าง?? >> คลิก <<
• ขั้นตอนง่ายๆ ในการปลูก หรือเปลี่ยนกระถาง แคคตัส กระบองเพชร ไม้อวบน้ำ >> คลิก <<
• การให้น้ำ รดน้ำ กระบองเพชร ( แคคตัส ) ไม้อวบน้ำ ควรให้ ยังไง ปริมาณเท่าไหร่?? >> คลิก <<

วิธีเลือกกระถาง วัดกระถาง ปลูกกระบองเพชร (แคคตัส) สำหรับมือใหม่


กระถาง ที่นิยมใช้มีทั้งที่เป็นเนื้อ พลาสติก และดินเผา โดยการเลือกใช้สามารถใช้ได้ตามความชอบ แต่ลักษณะของทั้ง 2 วัสดุนั้นมีความแตกต่างกันในเรื่องการระบายความชื้น อากาศถ่ายเท ฉะนั้นหากจะเลือกใช้วัสดุใด แนะนำให้ดูจากสถานที่เลี้ยง ว่ามีสภาพเหมาะสมกับกระถางแบบไหน ต้องการรดน้ำบ่อย เว้นระยะมากขนาดไหน หรือในไม้บางสกุลต้องการความชื้นน้อย ไม้ที่มีอายุมาก จะไม่ต้องการน้ำเยอะ และต้องการให้ดินแห้งเร็ว อาจจะเหมาะกับกระถางประเภทดินเผามากกว่า
ที่สำคัญ ไม่ควรเผื่อระยะให้ต้นไม้โตมากเกินไป แต่ควรเปลี่ยนกระถางเรื่อยๆ ตามระยะเพื่อกระตุ้นให้ต้นไม้เติบโตได้เร็วขึ้นด้วย และป้องกันความชื้นที่เยอะเกิน

กระถางมีผลอย่างไรกับการเลี้ยงบ้าง ??

ขนาดควรเหมาะสมกับต้น ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป เพราะถ้าหากกระถางใหญ่เกิน ก็จะเก็บกักความชื้นมากเกินพอดี อาจทำให้รากเน่าได้ง่าย กระถางเล็กไป ต้นก็อาจจะถูกจำกัดการโตได้ง่าย รากหาอาหารได้น้อย ดินเก็บความชื้นได้น้อยไป อาจจะทำให้ต้นเหี่ยวง่าย โตช้า หรือถ้าเลือกไม่เหมาะอาจจะทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตได้ เนื่องจากส่งผลกับระบบราก

แล้วขนาดไหนถึงจะพอเหมาะกับต้น ??

สามารถวัด กะระยะคราวได้จากรอบวงของต้น หรือจากโคนต้นควรห่างจากขอบปากกระถาง 1.5 – 2.5 เซนติเมตร โดยประมาณ

ก้นกระถางลักษณะนี้ จะระบายความชื้นได้ดี จึงไม่ต้องใช้วัสดุรองก้นเยอะ

แล้วทรงของกระถางควรเลือกแบบไหน ??

ก่อนอื่นเราต้องดูลักษณะของรากกระบองเพชร ว่ามีลักษณะเช่นไร เป็นรากฝอย หรือมีลักษณะเป็นโขด และรากแก้วมีความยาวขนาดไหน ( หลังจากตัดแต่งรากแล้ว ) ตัวสกุลของกระบองเพชรที่จะปลูก ว่าชอบชื้นมากหรือน้อยเพียงใด เพราะทรงของกระถางนั้นจะมีทั้ง สูง ก้นลึก ทรงก้นตื้น หรือ กว้าง สูงเท่ากัน


หากเป็นไม้ที่ชอบชื้น แนะนำให้เลือกเป็นกระถางทรงลึก เช่น ยิมโน, แอสโต, เมโล, อิชินอป, โลบิเวีย, โครีแฟนทา, อิชิโน ไม้ที่ชอบดินแห้งเร็ว ไม่เก็บความชื้นนาน ควรเป็นกระถางที่ก้นไม่ลึก ปากกว้าง ทรงชาม ทรงขัน เช่น แมม, รีบูเทีย ไม้ที่ไม่ชอบชื้นมาก รากเป็นโขด ควรเลือกเป็นกระถางทรงลึก ก้นแคบกว่าปาก ให้ปากกว้างและ บานออก เช่น โลโฟ, แอริโอคาร์ปัส, คอตชู

บทความที่เกี่ยวข้อง

• เพิ่งจะลงปลูกใหม่ รากก็เดิน ทำไม…กระบองเพชร (แคคตัส) โคนต้นยุบ ไม่โตขึ้น >> คลิก <<

มือใหม่ เริ่มสนใจปลูก กระบองเพชร (แคคตัส) ไม้อวบน้ำ ต้องเริ่มยังไง??


สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ในการเริ่มปลูก กระบองเพชร คือ การเริ่มเรียนรู้ในสกุล และชนิด ของกระบองเพชร กระบองเพชรนั้นมีหลายสกุล ในแต่ละสกุล มีแตกแยกย่อยไปอีกหลายชนิด การเลี้ยงดูนั้นมีความยาก และง่าย ยังมีต่างกันไปอีกด้วย

ดังนั้นหากจะเริ่มเลี้ยงควรเลือกที่เลี้ยงดูได้ง่ายๆ ซึ่งสกุลที่เลี้ยง และดูแลได้ง่ายๆ อาทิเช่น ยิมโนคาไลเซียม ( Gymnocalycium ) อิชินอปซิส ( Echinopsis ) โอพันเทีย ( opuntia ) แมมมิลลาเรีย ( mammillaria ) บางชนิด

ลำดับต่อมาคือการให้น้ำ สภาพแวดล้อม และวัสดุปลูก ด้วยกระบองเพชรไม่ใช่ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในบ้านเรา ฉะนั้น ดิน สภาพแวดล้อม ก็ควรจะให้ใกล้เคียงกับถิ่นกำเนิดของกระบองเพชร ที่เป็นที่แห้งแล้ง ความชื้นไม่มาก แสงแดดเพียงพอตลอดทั้งวัน ดินที่ใช้ปลูกไม่อุ้มน้ำมาก น้ำไม่ขัง

ลักษณะโดยพื้นฐานของกระบองเพชร ตัวต้นจะมีหลากหลายลักษณะตามสายพันธุ์ ต้นเป็นฟอร์ม ตอสูง กลมแตกหน่อเป็นพุ่ม หรือเป็นหัวเดียว มีทั้งมีหนาม และไม่มีหนาม ลักษณะของหนาม มีทั้งเป็นหนามแข็งแหลม คม และขนหนามแบบอ่อนนุ่ม ลักษณะของราก ทั้งที่รากเป็นฝอย หรือมีลักษณะเป็นโขด

มีดอกเพื่อใช้ในการสืบพันธุ์ แต่ละสกุลจะให้ดอกยากง่ายแตกต่างกัน สีของดอกมีทั้ง ขาว ชมพู แดง ส้ม เหลือง ม่วง แล้วแต่สกุล ส่วนใหญ่ดอกบานในตอนกลางวัน ช่วงเที่ยง-บ่าย และหุบในตอนกลางคืน และมีบางสกุลดอกบานในตอนกลางคืน และโรยในตอนเที่ยง

การขยายพันธุ์ คือ การผสมเกสรจนติดฝัก และนำไปเพาะเมล็ด แต่จะมีบางสกุล ที่สามารถชำหน่อได้

อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้ควบคู่ไปกับการเลี้ยงคือ โรค และอาการป่วย โดยหลักๆ โรคและอาการป่วยของกระบองเพชรนั้น เกิดได้จาก 2 ปัจจัยคือ สภาพแวดล้อม และแมลง ศัตรูพืช ที่พบบ่อย อาทิเช่น ไร, เพลี้ย, รา ในการรักษาก็มีหลายวิธี โดยจะมีตัวยาที่เป็นสารเคมี หรือจุลินทรีย์ที่นำมาใช้แตกต่างกันไป

ลิงค์ที่เกี่ยวข้องกับบทความ

• วัสดุที่นิยมใช้ปลูกกระบองเพชร >> คลิก <<

• การรดน้ำ ให้น้ำ กระบองเพชร >> คลิก <<

• แสงแดด สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเลี้ยงกระบองเพชร >> คลิก <<

วิธีการปลูกต้นอ่อนกระบองเพชร และการดูแล หลังจากแยกมาจากการเพาะเมล็ด


การปลูกต้นอ่อนกระบองเพชร

ดิน และวัสดุปลูก ใช้แบบเดียวกับการปลูกปกติ กระถางที่เลือกใช้ไม่ควรใหญ่ และลึกเกินไป เพราะจะยิ่งเป็นการสะสมความชื้นในดินเยอะมากเกิน การปลูกในกระถาง ควรรวมกันก่อน เพื่อประหยัดพื้นที่ และอีกหนึ่งสาเหตุ ต้นอ่อนกระบองเพชรนั้น จะมีรากที่อ่อน เล็ก ดูดซึมความชื้นได้น้อย หากดินชื้นมากจะทำให้ต้นอ่อนเน่าได้ง่าย การปลูกรวมกันจึงเป็นการช่วยควบคุมความชืนในดินไม่ให้มีมากเกินไป


วัสดุที่ใช้โรยหน้า ควรระบายความชื้นได้ดี หากเป็นหินกรวด ก็ควรเป็นเป็นกรวดเบอร์ไม่เล็กมาก เพราะหินเบอร์เล็ก ละเอียด จะทำให้ดินเก็บควมชื้นมาก หากดินชื้น เมื่อต้นอ่อนโดนแดดหินที่อบและร้อน อาจจะทำให้เกิดอาการเน่าบริเวณโคนต้นได้ หากใช้เป็นจำพวกดินญี่ปุ่น หินลาวา หินภูเขาไฟ จะระบายความชื้นได้ดีกว่า และสังเกตความชื้นในดินได้ง่าย เวลารดน้ำ


การดูแลต้นอ่อนกระบองเพชร

ในช่วงที่ย้ายจากการเพาะมาลงปลูกใหม่ๆ ควรเลี้ยงในที่แดดร่ำไร จนกว่าจะสังเกตเห็นว่า รากเริ่มเดินดี ( ดูได้จากรากที่ยึดกับดิน หรือยอดเดิน ) จึงค่อยๆ นำมาเลี้ยงในแดดที่เข้มข้นขึ้น โดยสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงต้นอ่อนนั้น ควรจะมีการปรับแสงให้ลดลง พรางแสง มากกว่าการเลี้ยงโดยปกติ ที่ใช้เลี้ยง 10-20 % โดยประมาณ

ด้วยต้นอ่อนมีรากอ่อน เล็ก สั้น ดูดซึมอาหารได้ไม่มาก และลำต้นที่เล็กการกักเก็บอาหารในตัวยังมีน้อย ในช่วงแรกการรดน้ำจึงจะใช้เป็นการหมั่นโชยน้ำอยู่บ่อยๆ 2-3 วันครั้ง รดไม่ต้องชุ่มมาก เพื่อป้องกันไม่ให้ดินมีความชื้นมากไป เมื่อต้นอ่อนเริ่มแข็งแรงต้นโตขึ้น จึงค่อยปรับแสงแดดในการเลี้ยงให้เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และเพิ่มปริมาณน้ำที่ใช้รดให้มากขึ้น

คำถามที่พบบ่อยในการเพาะเมล็ด ต้นอ่อน กระบองเพชร (แคคตัส) แบบปิด


เพาะเมล็ดไปแล้วต้องรดน้ำอีกหรือไม่??

หากเป็นการเพาะแบบปิด จะไม่ต้องรด หรือให้น้ำหลังจากการเพาะครั้งแรกอีกเลย เว้นแต่ในกรณีที่น้ำระเหยออกมาเยอะจนดินแห้ง สามารถใช้สเปรย์พ่นน้ำเพิ่มได้และรีบปิดภาชนะเพาะโดยเร็ว

ทำไมต้นอ่อนกระบองเพชรโตช้า??

หากตอนโรย หรือหว่านเมล็ดนั้นมีความหนาแน่นกันจนเกินไป เมื่อต้นอ่อนโตขึ้นจนเริ่มเบียดกันจะเริ่มแย่งอาหารทำให้ต้นอ่อน โตช้า วิธีแก้หากต้นเริ่มมีการเบียดกันมากเกินไป ให้แยกต้นที่โตพอปลูกได้แยกออกมาปลูกก่อน และต้นที่ยังเล็กไม่สมบูรณ์เลี้ยงไว้ในกล่องต่อไป ฉะนั้นตอนโรยเมล็ดควรเว้นระยะห่างให้พอเหมาะ การกะระยะแบบคร่าวๆ โดยใช้นิ้วก้อยเราแทนต้นอ่อน แล้วเว้นระยะให้เหมาะสม

ทำไมเมล็ดงอกช้า ไม่ค่อยงอก งอกน้อย??

เมล็ดงอกช้า เกิดจาก 2 สาเหตุหลักๆ ที่พบบ่อยคือ ความสมบูรณ์ของเมล็ด และระยะเวลาที่เกิดเมล็ดไว้ หากเมล็ดเก็บไว้นานมาก อัตราการงอกก็อาจจะลดลงได้ อีกหนึ่งสาเหตุคือ การได้รับแสงไม่เพียงพอ ต่อการงอก ซึ่งจะส่งผลให้ต้นอ่อนโตช้าลงอีกด้วย

ต้นอ่อนยืดยาวเป็นถั่วงอก??

หากได้รับแสงแดดน้้อยจะทำให้ต้นอ่อน ยึดตัวขึ้นหาแสง จนต้นเสียฟอร์ม วิธีแก้ ค่อยปรับ หรือเปลี่ยน สถานที่เพาะ ให้เขาค่อยได้รับแดดเพิ่มขึ้น หากเปลี่ยนไปเลี้บงแดดที่แรงขึ้นกระทันหัน อาจจะทำให้ต้นอ่อนปรับตัวไม่ทัน จนไหม้ ฝ่อ ยุบตัวลงได้

จะรู้ได้อย่างไร ว่าความชื้นในกล่อง พอเหมาะพอดี กับต้นอ่อน??

ให้สังเกตจากไอน้ำที่ระเหยมาเกาะอยู่ในกล่อง หรือภาชนะที่เราใช้เพาะ การควบแน่นจะทำให้เกิดเป็นเม็ดไอน้ำที่เกาะอยู่ หากไม่มีไอน้ำเกาะเลย ความชื้นในดินนั้นอาจจะน้อยเกินไป แต่ถ้าหากเม็ดไอน้ำมีขนาดใหญ่ และเยอะมาก หรือเกิดมีตะไคร่มาก นั้นอาจจะเป็นเพราะความชื้้นเยอะ และโดนแดดแรงเกินไป

ทำไมในกระถางเพาะมีตะไคร่เยอะ ต้องทำอย่างไร??

ถ้าหากพบว่าในภาชนะที่เราใช้ในการเพาะมีตะไคร่มากเกิน อาจเป็นได้จากความชื้นในกล่องมีปริมาณมากเกิน ตำแหน่งที่วางนั้น มีแสงแดดแรงเกินไป ควรย้าย หรือกางสแลนช่วยพรางแสง ส่วนตะไคร่นั้นให้ใช้้แหนบเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอลฮอล์แล้วคีบเอาตะไคร่ออก และปิดภาชนะเพาะตามเดิม อย่างรวดเร็ว และควรทำในช่วงที่อากาศไม่ร้อนจัด เพราะถ้าหากปล่อยให้ตะไคร่มีีปริมาณเยอะมากนั้นอาจจะทำให้ต้นอ่อนของเราโดนแย่งอาหารและตายได้

แมลงตัวเล็กๆ ขาวๆ กระโดดได้ เดินเร็วๆ เป็นอันตรายต่อต้นอ่อนหรือไม่??

แมลงเหล่านี้มาจากไข่ที่ทิ้งไว้อยู่พีทมอส เมื่อมีความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมก็ฝักตัวออกมา ซึ่งไม่ส่งผลเสียต่อต้นอ่อนกระบองเพชรแต่อย่างใด

แล้วเราจะเอาต้นอ่อนออกมาปลูกตามปกติได้เมื่อไหร่??

เมื่อเพาะได้ระยะเวลา 4 – 6 เดือน หรือเมื่อหัวยอดต้นอ่อนขนาดประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ( ซึ่งบางสายพันธุ์ ที่เป็นไม้ทรงยาว ไม้ตอ สามารถแยกได้ ตั้งแต่ต้นอ่อนมี ขนาด 0.5 เซนติเมตร โดยจะดูความสมบูรณ์ของต้นอ่อนเป็นหลัก )

เพาะเมล็ด กระบองเพชร (แคคตัส) จะต้องทำอย่างไรต่อ? ควรแยกมาปลูกเมื่อไหร่?


เมื่อเพาะเมล็ดได้ระยะเวลาประมาณ 4 – 6 เดือน หรือเมื่อต้นอ่อนขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร ( ซึ่งบางสายพันธุ์สามารถแยกได้ ตั้งแต่ต้นอ่อนมี ขนาด 0.5 เซนติเมตร โดยจะดูความสมบูรณ์ของต้นอ่อนเป็นหลัก )

หากเป็นการเพาะเมล็ดแบบปิด ก่อนที่จะนำออกมาปลูก 1-2 อาทิตย์ค่อยๆ แง้มฝากล่อง ภาชนะ หรือถุง ที่ใส่ในการเพาะทีละนิด เพื่อให้ต้นอ่อนได้มีการปรับตัวกับสภาพอากาศภายนอก ที่อุณหภูมิจะแตกต่างกันมาก

เมื่อต้นอ่อนได้ปรับสภาพแล้ว ก็สามารถนำลงปลูกในดินปลูกปกติได้เลย โดยไม่ต้องตัดแต่งราก โดยการปลูกนั้น แนะนำให้เป็นการปลูกในกระถางรวมกันก่อน เพื่อประหยัดพื้นที่ และอีกหนึ่งสาเหตุ ต้นอ่อนกระบองเพชรนั้น จะมีรากที่อ่อน เล็ก ดูดซึมความชื้นได้น้อย หากดินชื้นมากจะทำให้ต้นอ่อนเน่าได้ง่าย การปลูกรวมกันจึงเป็นการช่วยควบคุมความชืนในดินไม่่ให้มีมากเกินไป


คำถามที่พบบ่อย ??

ถ้าหากเรายังไม่มีเวลาแยกมาปลูกลงดิน จะส่งผลเสียอะไรกับต้นอ่อนหรือไม่?

ต้นอ่อนสามารถอยู่ในกล่อง หรือกระถางเพาะต่อได้อยู่ โดยเลี้ยงต่อแบบเปิดฝากล่อง หรือนำเอาออกมาจาก กล่อง ภาชนะ ถุง ที่เราใส่อบไว้ แล้วให้น้ำโดยการโชยน้ำอยู่เรื่อยๆ เมื่อดินแห้ง ซึ่งเขาสามารถโตต่อได้

แต่การเจริญเติบโต อาจจะเริ่มช้าลง เพราะสารอาหารที่อยู่ในดินเพาะจะเริ่มหมด หรือเมื่อต้นโตมากขึ้นเรื่อยๆ จนเบียดกัน เกิดการแย่งอาหาร ส่งผลให้ต้นที่เล็กกว่่า อาจจะถูกแย่งอาหารจนแคระแกร็น หรือฝ่อตายได้