กระบองเพชร สกุล โครีแฟนทา (Coryphantha) การเลี้ยง และดูแล


ลักษณะของต้น

เป็นกระบองเพชรที่มีจุดเด่นตรง หนาม ลักษณะของต้นเป็น เต้ากระจายรอบต้น ผิวของต้นสีเขียวเข้ม มีปุยขาวปกคลุมในช่วงระหว่างเตา แตกหน่อที่ปลายเตา หรือช่องระหว่างหน่อ สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยง และพบได้บ่อยคือ C.elephantidens ( ช้างแคคตัส ) ที่มาจากภาษาลาติน ที่แปลว่า ฟันช้าง ตามลักษณะของหนามหนา และใหญ่









ลักษณะของดอก

เป็นสายพันธุ์ที่ออกดอกได้เรื่อยๆ ตลอดทั้งปี ดอกมี 3 สี ชมพู เหลือง ขาว ที่พบบ่อยคือ สีชมพู ดอกใหญ่ สีกลีบ มันเงา กลีบดอกยาว จะเริ่มบานตั้งแต่สาย และบานเต็มทีในช่วงบ่าย ดอกหุบในตอนเย็น บาน 1- 2 วัน

การขยายพันธุ์

ผสมเกสร เมื่อติดฝักนำไปเพาะ ขยายพันธุ์ หรือใช้การเด็ดหน่อชำ

สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

สกุลโครีแฟนทา หรือที่ในบ้านเราเรียกกันว่า ช้างแคคตัส ชอบแดดจัด 75-90% อากาศถ่ายดีได้ไม่อับชื้น ยิ่งมีลมโกรก ก็จะช่วยป้องการเกิดโรคได้ดี สิ่งสำคัญคือ การวางต้น ควรมีการเว้นระยะไม่ให้แออัด แสงแดดส่องถึงได้ทั่ว ไม่เช่นนั้นจะผิวเสีย และเป็นโรคได้ง่าย ดินที่ปลูกต้องมีความโปร่ง ไม่เก็บความชื้นเยอะ ชอบน้ำมากว่าสายพันธุ์อื่นๆ หากต้องการให้ต้นโต เต้าใหญ่ แข็งแรง ต้องบำรุงด้วยปุ๋ย

โรค และศัตรูพืชที่พบบ่อย

ไรแดง, เพลี้ยหอย, เพลี้ยแป้ง, โรคจากแบคทีเรีย




📌 รวมพิกัด ไอเท็มทำสวนไว้ให้เลือกช้อป !!

Advertisement  / โฆษณา

ไม้อวบน้ำ ฮาโวเทีย ( Haworthia) การเลี้ยง และดูแล


ฮาโวเทีย ไม้อวบน้ำ วงศ์เดียว กับว่านหางจระเข้ ทำให้ลักษณะกายภาพบางอย่างจึงดูคล้ายกัน เป็นไม้อวบน้ำที่มีลักษณะสวยงาม ยิ่งเมื่อใบได้สะท้อนกับแสง จะคล้ายกับ แก้วที่ส่องประกายแวววาว

ลักษณะของต้น

ฮาโวเทีย มีทั้งที่เป็นใบใส และใบแข็ง ใบเป็นสีเขียว และมีที่ใบด่าง ลักษณะใบมีหลากหลายลักษณะ กลม เรียวยาว ปลายแหลม ปลายตัด เนื้อใบด้านในจะมีวุ้น และมีส่วนที่ใส ไว้รับแสง หรือเรียกว่า “เลนส์ใบ” ต้นจะกางออกเป็นช่อ มีลักษณะเป็นพุ่ม และทรงพัด สายพันธุ์มีที่เป็น ธรรมชาติ และที่ได้ผ่านการพัฒนามาจนเกิดเป็นหน้าตาแปลกใหม่ ที่เป็นลูกผสม (ไฮปริด) มากมาย รากจะเป็นรากที่ไม่แข็ง เปราะหักง่าย ลักษณะคล้ายรากของบัว









ส่วนลด !! พิเศษ 70% ช้อปเลย..

ลักษณะของดอก

ฮาโวเทียจะมีก้านดอกที่ยาวชูช่อ ดอกเรียงกันไปตามก้านดอก ดอกสามารถผสมเกสรได้

การขยายพันธุ์

สามารถเพาะเมล็ด, ชำหน่อ, วางใบ แต่วิธีที่นิยมใช้ คือการชำหน่อ ที่จะทำได้ง่าย และการดูแลไม่ยุ่งยาก หน่อมีทั้งที่เป็นหน่อที่แตกมาจากรากของต้น และหน่อที่ได้มาจากที่เราปาดยอด การปาดยอด หรือเรียกได้อีกอย่างว่า “ยกยอด” ทำให้เกิดหน่อใหม่ขึ้นมาแทน ยอดเดิม ซึ่งอาจจะมีโอกาสมีหน่อเพิ่มขึ้นมามากกว่า 1 หน่อ

การแยกหน่อมานั้น เป็นการแยกกอที่แตกมาใหม่ ซึ่งอาจจะไม่มีราก หลังจากปักชำแล้ว ก็จะมีรากงอกออกมา รอจนต้นมีรากสมบูรณ์ และเข้าฟอร์มค่อยนำไปแยกกระถางปลูก ในการชำหน่อ สามารถชำในดินปลูกได้ แต่รากอาจจะมาช้ากว่า หรือค่อนข้างเสี่ยงที่โคนราก จะเน่า หน่อฝ่อ ก่อนที่รากจะมา หากควบคุมการให้น้ำได้ไม่ดี

แต่ถ้าหากดินปลูกที่ใช้ชำ ควบคุมความชื้นง่ายก็จะทำให้โอกาสที่หน่อจะเน่าลดลงได้ ทำให้การล่อราก ส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัสดุที่ควบคุมความชื้นได้ง่าย ในการล่อรากก่อนนำมาปลูกลงดิน วัสดุที่ใช้ก็หลากหลายแล้วแต่ความเชี่ยวชาญ และถนัดของแต่ละบุคคล ที่นิยมใช้ก็มี หินภูเขาไฟ, ดินคานูมะ, ดินอคาดามะ, สแฟกนั่มมอส, เม็ดดินเผา ซึ่งในช่วงที่ล่อรากนั้น การรักษาความชื้นในสม่ำเสมอสำคัญมาก วัสดุล่อรากควรจะต้องมีความชื้นที่เหมาะสม แต่ไม่แฉะหรือ ขังน้ำ

การชำหน่อฮาโวเทีย ในดินปลูก




สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

ฮาโวเทีย เป็นไม้อวบน้ำที่ไม่ ชอบแดดจัด เหมือนกระบองเพชร ในธรรมชาติจะซ่อนตัวอยู่ใต้ต้นไม้ หรือ ซอกโขดหิน จะมีชนิดใบแข็งที่สามารถ อยู่กลางแดดจัดได้ ต้องการแสงแดดทั้งวัน เป็นการพรางแสง แดดประมาณ 50-70% สามารถเลีัยงใต้ชายคาบ้านที่มีแสงส่องถึงได้ แต่ต้องคอยหมุนต้น, กระถาง หาแสง เพื่อให้ต้นได้รับแสงรอบด้าน หากได้รับแดดด้านเดียว อาจทำให้ต้นโตผิดฟอร์ม ใบไม่เท่ากัน

สิ่งสำคัญในเลี้ยงคือ ไม่ชอบอากาศร้อน และอบ จึงไม่ค่อยเหมาะกับการเลี้ยงโรงเรือนปิด ชอบอากาศเย็น มีลมพัดผ่าน อากาศถ่ายเทดี ฮาโวเทียจึงชอบช่วงฤดูหนาว ที่มีความชื้นบางๆ อากาศเย็นๆ ใบจะเป่งอวบอิ่ม และใสมาก

ช่วงอันตรายคือ ฤดูร้อน ที่อาจจะทำให้ใบไหม้ ต้นเหี่ยว หรือทิ้งราก จนทำให้ต้นดูโทรมไม่สดใส ใบไม่เขียว ต้นลีบ ใบอาจจะกลายเป็นสีอมม่วงแทน วิธีแก้คือ ในฤดูร้อนควรจะโชยน้ำบางๆ ในช่วงเย็น เพื่อช่วยระบายความร้อนจากดิน และต้น

วีดีโอการโชยน้ำ ต้องทำยังไง >> คลิก <<

ดินที่ใช้ปลูกควรเป็นดินที่โปร่ง เนื้อดินไม่จับตัว ไม่อุ้มน้ำจนแฉะ แต่ควรเก็บความเก็บความชื้นได้ดี เพราะจะทำให้รากเน่าได้ง่าย สามารถใช้ดินปลูกกระบองเพชร หรือดินปลูกไม้อวบน้ำปลูกได้ ลักษณะของดินไม่ควรมีส่วนผสมของทรายละเอียดมาก เพราะเมื่อปลูกไปสักระยะเนื้อดินหมด หรือยุบตัว ทรายจะไหลไปกองรวมกันจับตัวให้เกิดการแฉะก้นกระถาง วัสดุที่ใช้โรยหน้ากระถาง ควรระบายความชื้นได้ดี เพื่อป้องกัน การเน่าโคนต้น เน่าคอดิน

รดน้ำมือดินแห้งเป็นหลัก ไม่ควรใช้การนับวัน เพราะในแต่ละฤดูดินแห้ง ช้าเร็วต่างกัน หากใช้ ดินญี่ปุ่นอคาดมะ หรือหินลาวาดำ โรยหน้ากระถาง ก็จะทำให้สังเกตความชื้นได้ง่ายด้วย โดยสังเกตว่าดินญี่ปุ่นแห้งแล้ว เว้นสัก 1-2 วันก็รดน้ำได้เลย และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกประการคือ อย่าให้ขาดน้ำนานเกินไป เพราะต้นจะทิ้งราก สรุปคือ การให้น้ำของฮาโวเทีย ค่อนข้างสำคัญต่อต้นมาก รดมากไป เน่า ใบปริแตก รดน้อยไป ใบแห้ง ต้นทิ้งราก

และการฟื้นฟูต้นให้กลับมาแข็งแรง สดใส ใหม่อีกครั้งสำหรับฮาโวเทียนั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน กว่าไม้อวบน้ำประเภทอื่นๆ บางทีอาจจะต้องใช้ระยะเวลา 4-8 เดือน หรือมากกว่านั้น กว่าต้นจะกลับมาสวยใสดังเดิม ฮาโวเทีย จึงจะต้องใช้เวลาใส่ใจมากกว่า ไม้อวบน้ำประเภทกระบองเพชร หากต้องการให้ต้นสวย ใส อวบอิ่มตลอด

โรค และศัตรูพืชที่พบบ่อย

เพลี้ย, ไรแดง, โรครากเน่า, อาการทิ้งราก, ใบช้ำ

ขอบคุณวีดีโอ : Youtube Chanel / Aj’s Cacti

📌 รวมพิกัด ไอเท็มทำสวนไว้ให้เลือกช้อป !!

Advertisement  / โฆษณา

ไม้อวบน้ำ สายพันธุ์ กุหลาบหิน ( Succulent ) การเลี้ยง และดูแล


ลักษณะของต้น

กุหลาบหิน ลักษณะของต้น จะคล้ายดอกไม้ มีทั้งเป็น ทรงกลม หรือเป็นพวงช่อยาว สีสันของต้น มีหลายเฉดสี ไม่ว่าจะออกเป็น เขียวอมฟ้า เขียวอมชมพู เขียวอมม่วง บนผิวใบจะมีลักษณะเป็น แป้งนวลสีขาว หรือเป็นที่เรียกกันว่า Wax เคลือบผิวใบ ที่เกิดจาการต้นสร้างขึ้นมาเอง เพื่อช่วยในการปกป้องผิวใบจากแสงแดด

ลักษณะของรูปทรงใบ มีแตกต่างไปตามสายพันธุ์มีทั้งที่เป็น ช่อกลุ่มใบเล็กๆ ทรงพุ่ม และเป็นช่อใบใหญ่ ใบและต้นมีลักษณะ อ่อน เปราะ หักง่าย รากจะเป็นรากฝอยๆ ขนาดเล็กกระจายทั่ว เมื่อต้นแก่จะมี ลำต้นจะแข็งขึ้น, หรือมีลักษณะเป็นโขด









ลักษณะของดอก

ลักษณะของดอกจะชูขึ้นมา โดยมีก้านดอกยาว และปลายดอกเป็น ดอกเล็กเรียงกัน หรือเป็นพวงยาวตามก้านดอก โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีดอกเมื่อต้อมีอายุมาก และหลังจากออกดอกต้นจะโรย และตาย ส่วนมากถ้าต้นมีดอกจะนิยมตัดทิ้ง เพื่อรักษาต้นไว้ไม่ให้ตาย




การขยายพันธุ์

สามารถ ชำกิ่ง, วางใบ. เพาะเมล็ด, แต่วิธีที่นิยมใช้ คือ วางใบ การวางใบจะทำให้ได้ต้นใหม่ที่แข็งแรง เพราะต้องใช้ระยะเวลา ในการปลูกดูแล และเติบโตต้นจะค่อยๆ งอก แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ และปรับสภาพกับอากาศได้ดี

สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

กุหลาบหิน เป็นไม้ที่ชอบอากาศเย็น และแสงแดด ตลอดวันโดยเป็นแดด ที่พรางแสงหรือแดด 70-80 เปอร์เซ็นต์

สามารถเลี้ยงกลางแจ้งได้ ในบางชนิด แต่ต้องค่อยๆ ใช้วิธีเทรนแดด ให้เขาปรับตัวกับแดดจัด แต่ข้อเสียในการเลี้ยงกลางแจ้ง คือ ด้วยสภาพอากาศประเทศไทย เป็นร้อนชื้น สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ร้อนจัด แดดแรง หรือ ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน จะทำให้กุหลาบหิน เป็นโรคป่วยได้ง่าย

ยกเว้นในบางพื้นที่ ที่มีอากาศเย็น และฝนน้อย อย่างภาคเหนือ หรือ อีสานตอนบนของประเทศ สามารถปลูกกลางแจ้งได้ ดีกว่า ด้วยสภาพอากาศที่เหมาะสม จะทำให้ต้นแข็งแรง ได้ฟอร์มสวยมากกว่า

ซึ่งในการเทรนแดด ต้องอาศัยเวลาในการให้ไม้ค่อยๆ ปรับตัวเพื่อจะสร้างใบใหม่ที่แข็งแรง และทนกับสภาพอากาศที่เลี้ยงปัจจุบันได้ดี

กุหลาบหิน ชอบดินที่โปร่งร่วนซุย สามารถใช้ดินลักษณะเดียวกับกระบองเพชรในการปลูกได้ รดน้ำเมื่อดินแห้ง รดจนออกก้นกระถาง แล้วทิ้งช่วงจนดินแห้ง หลังจากดินแห้ง 1-2 วัน จึงรดน้ำใหม่ หากสถานที่ปลูกอากาศถ่ายเทได้ดี ต้นจะไม่เป็นคราบน้ำ แป้งนวลก็จะไม่หลุด จนทำให้ใบดูด่างเป็นจุดขาวไม่สวยง่าย ในช่วงฤดูฝนควรต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะจะเกิดอาการเน่า โรคที่เกิดจากเชื้อราแบคทีเรียได้ง่าย

หากต้องการเลี้ยงให้ได้สี และฟอร์มสวย ไม่ควรใช้ปุ๋ยที่มี ไนโตรเจนสูง เพราะจะทำให้ใบเป็นสีเขียว มากกว่าสีสันสดใส ตามลักษณะของต้น หากเลี้ยงแสงแดดเพียงพอ ของต้นจะมี Wax ขาวปกคลุมผิวใบ และต้นสีสด ฟอร์มกระชับ

โรค และศัตรูพืชที่พบบ่อย

เพลี้ย, ไรแดง, โรครากเน่า, ไหม้แดด, ใบช้ำน้ำ, เน่าคอดิน

บทความที่เกี่ยวข้อง

• การวางใบ ชำใบ เพื่อขยายพันธุ์ ไม้อวบน้ำ กุหลาบหิน ซัคคิวเลนท์ ( SUCCULENT ) >> คลิก <<

📌 รวมพิกัด ไอเท็มทำสวนไว้ให้เลือกช้อป !!

Advertisement  / โฆษณา

กระบองเพชร สกุล แอสโตรไฟตัม (Astrophytum) การเลี้ยง และดูแล


กระบองเพชร (แคคตัส) สกุล แอสโตรไฟตัม ( Astrophytum ) เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์กระบองเพชรที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย และมีการพัฒนาสายพันธุ์ อยู่เรื่อยๆ จนทำให้มีทรง และลวดลายแปลกตามากขึ้น

ลักษณะของต้น

ลักษณะที่โดดเด่นของต้นคือ ผิวสีเขียวเข้มสด ตัดกับลายบนต้นที่เป็นสีขาว ลวดลายมากมายแปลกตา ตามที่ได้พัฒนา และผสมพันธุ์ มีดอทปุย เป็นตุ่มขนขึ้นบนผิวต้น มีชนิดที่มีหนามและไม่มีหนาม แต่ที่นิยมและมีผู้เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์กันมากจะเป็นชนิดที่ไม่มีหนามอย่าง แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส ( A.asterias ) , แอสโตรไฟตัม ไมริโอสตริกมา ( A.myriostigma )









แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส มีการพัฒนาสายพันธุ์จากญี่ปุ่น จนทำให้เกิดลวดลายบนต้นที่แตกต่าง แตกย่อยอีกมากมาย โดยจะมีชื่อเรียกกันตามลักษณะ

KABUTO ( คาบุโตะ ) ลักษณะ : จะมีลวดลายขาวประปราย กระจายทั่ว ดอทต้นขนาดเล็ก เรียงตามเส้นพู ของต้น

• SUPER KABUTO ( ซูเปอร์คาบุโตะ) ลักษณะ : มีลายสีขาวหนา แน่น กว่าคาบุโตะปกติ ปื้นสีขาวมีลายหนา แปลกตา

• V-TYPE ( วีไทป์ ) ลักษณะ : มีลายสีขาวเป็นรูปตัวอักษรวี (V) เรียงไล่ตามดอท ตามแนวของพู หากต้นไม่มีลวดลาย เป็นสีเขียวและมีเพียงลายวี สีขาว จะเรียกว่า วีนูดัม ( V-Nudum )

• NUDUM ( นูดัม ) ลักษณะ : ผิวของต้นจะเกลี้ยงเขียว ไม่มีลาย หรือจุดสีขาวบนต้นเลย มีเพียงดอทปุย

• HANAZONO ( ฮานะโซโนะ ) ลักษณะ : มีดอทปุยเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วต้น มีลวดลายต่างๆ ไม่ซ้ำกัน ซึ่งดอทที่กระจายอยู่นี้ทำให้สร้างตาดอกได้หลายตำแหน่งมากกว่าปกติ จึงเป็นแอสโตรที่มีตำแหน่งการออกดอกได้ทั่วต้น ต่างกับแอสโตรปกติที่จะออกดอกที่ตุ่มหนามปลายยอดของต้น

• RENSEI ( เรนเซ ) ลักษณะ : ดอทปุย ตุ่มขน เรียงชิดติดกันมีลักษณะคล้าย “สร้อย” โดยปกติหากเป็น KABUTO ทั่วไป ดอทจะไม่เรียงชิดติดกัน จะมีระยะห่างระหว่างดอท




• OOIBO ( โออิโบะ ) ลักษณะ : ดอทปุย ตุ่มหนาม มีขนาดใหญ่กว่าปกติมาก และถ้าเป็นดอทที่ใหญ่กว่าปกติ และเรียงชิดกันเป็นสร้อย ก็จะเรียกว่า OOIBO RENSEI ( โออิโบะ เรนเซ )

• KIKKO ( กิ๊กโกะ ) ลักษณะ : ตุ่มหนามเป็นบั้ง และหยักเว้าเป็นร่องลึก และกว้างต่างกันไป มีลักษณะของสันพูที่แบ่งกันระหว่างแต่ละตุ่มหนาม คล้ายกับกระดองเต่า

• EKUBO ( คุโบะ ) ลักษณะ : มีรอยขีดสั้นๆ ขวาง ระหว่างพู หรือใต้ดอทหนาม เรียงตามพูคล้าย “ลักยิ้ม”

• FUKURYU ( ฟุคุริว ) ลักษณะ : ผิวยับย่น ขึ้นเป็นริ้วหยัก ซ้อนกันไป

• FUKURYO ( ฟุคุเรียว ) ลักษณะ : มีพูแทรกจากปกติ หรือพูเล็กๆ เหมือนติ่ง แทรกอยู่ในระหว่างพูใหญ่ปกติ

SNOW ( สโนว์ ) ลักษณะ : มีลาย หรือขนสีขาวขนาดติดกันเป็นปื้นใหญ่ จำนวนมากปกคลุมผิวของต้นแทนจะมองไม่เห็นสีเขียวของต้น

• STAR SHAPE ( สตาร์ เชฟ ) ลักษณะ : ลำต้นจะไม่กลมเหมือนแอสโตรทั่วไป จะมีความเว้าลึกระหว่างพู ที่เว้าไปจนถึงโคนต้น หากวางต้นหงายขึ้นจะเห็นรองระหว่างพูที่เว้าชัดเจน มองจากด้านบนลักษณะเหมือนดาว ต่างกับแอสโตรปกติที่เป็นลักษณะกลม

ส่วนที่เป็นแอสโตรไฟตัม ที่มีหนาม ได้แก่ แคปริคอร์น ( A.capricorne ), ออร์นาตัม ( A.arnatum ) เมื่อต้นยืนอายุมากต้นจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนลด !! พิเศษ 70% ช้อปเลย..

ลักษณะของดอก

ดอกมีเรื่อยๆ ในทุกฤดู แต่จะมากในฤดูร้อน ที่เหมาะเป็นการผสมพันธุ์ ดอกบานในช่วงเที่ยง-บ่าย และหุบตอนเย็น ดอกบาน 1-3 วันก็จะโรย เมื่อมีการผสมเกสรติดดอกจะปิดทันที มีดอกเป็นสีเหลืองส่วนใหญ่ แต่จะมีพบเป็นสีชมพู หรือชมพูโทนแดงได้ด้วย แต่จะค่อนข้างหายากกว่าสีเหลือง และจะมีชื่อเรียก ดอกสีชมพูโทนแดงว่า AKABANA ( อคาบานะ ) กลีบดอกปกติ จะยาวกว้าง ปลาย ขอบกลีบดอกเรียบ หากมีหยักหรือริ้ว จะเรียกว่า ดอกขนนก ซึ่งจะหาได้ยาก ดอกที่มีลักษณะแปลก และพบได้ยากอีกแบบคือ ดอกชินโชวะ ( Shinshowa ) ลักษณะของกลีบดอกจะเล็กเรียวเป็นเส้นฝอย

การขยายพันธุ์

ผสมเกสร ติดฝัก นำไปเพาะเมล็ด เป็นการผสมข้ามต้น และสามารถผสมข้ามชนิดกันได้ที่เป็นสกุลเดียวกัน เช่น แอสทีเรีย ผสมกับ ไมริโอสตริกมา ก็จะได้มาเป็นลูกผสม ที่มีลักษณะเด่นของทั้ง 2 ออกมาในรุ่นลูก ลูกผสมจะเรียกกันว่า Hybird (ไฮปริด)

สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

แอสโตร เป็นไม้ที่ค่อนข้างชอบชื้นกว่า กระบองเพชรทั่วไป ไม่ชอบแดดแรง หากเลี้ยงแดดจัดจะทำให้ผิวไหม้ง่าย หรือไม่เป็นสีเขียวใส เว้นแต่ในต้นที่มีลายขาวปกคลุมมาก หรือสโนว์ ที่จะทนแดดได้ดีกว่าไม้ที่มีผิวเขียวเยอะ ฉะนั้นการเลี้ยงจึงควรพลางแสง ด้วยสแลน หรือเป็นแดด 60-70% จะทำให้ไม้มีผิวที่สวยไม่กร้านแดด

ดินโปรงชื้น แต่ไม่แฉะ ดินไม่ชุ่มน้ำนาน ระบายความชื้นได้ดี รดน้ำเมื่อดินแห้ง ช่วงหน้าฝนต้องระวังไม่ให้ดินมีความชื้นมากเพราะจะเกิดคราบน้ำโคนต้น หรือโรคที่เกิดจากแบคทีเรียบางอย่างได้ เมื่อเกิดรอยแผลแล้วจะเป็นแผลตลอดรักษาไม่หาย นอกจากรอให้ต้นโต และผิวไล่ลงโคนต้น และเมื่อถึงระยะเปลี่ยนดิน หรือต้นโตคับกระถางควรเปลี่ยนดิน ขยายขนาดกระถาง เพื่อให้ต้นไม่ชะงักการโต หากปล่อยไว้นาน รากแน่น ความชื้นไม่พอจะทำให้โคนต้นยุบได้ง่าย และหากรากไม่มีการกระตุ้น หรืออ่อนแอ จะโดนโรค หรือศัตรูพืช รุ่มเร้าได้ง่าย

โรค และศัตรูพืชที่พบบ่อย

เพลี้ยแป้ง กัดกินราก และต้น, เพลี้ยญี่ปุ่น กินยอด , เพลี้ยหอย เกาะต้น, แคงเกอร์ เกาะ กัดกินผิว, หนู ที่ค่อยกัดกินต้น และกินฝักเมื่อผสมเกสรติด

📌 รวมพิกัด ไอเท็มทำสวนไว้ให้เลือกช้อป !!

Advertisement  / โฆษณา

กระบองเพชร ไม้อวบน้ำ สกุล และสายพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย ดูแลไม่ยาก เหมาะกับมือใหม่


สำหรับมือใหม่ ที่ต้องการเริ่มหัดเลี้ยง กระบองเพชร ( แคคตัส ) แนะนำให้เริ่มปลูกจากสกุล หรือชนิดที่ดูแลได้ง่ายก่อน เริ่มจากชนิดที่ราคาไม่สูงมาก ดูแลง่าย เพื่อเป็นการค่อยๆ ศึกษาวิธีการเลี้ยง ขยายพันธุ์ รักษาโรค หรืออาการป่วย และสภาพแวดล้อมในการปลูกให้เหมาะสม ให้มีความชำนาญ

สกุล แมมมิลลาเรีย ( Mammillaria ) ในภาพเป็น นิโวซา ( M. nivosa ) หรือเรียกกันว่า แมมเข็มทอง แมมหนามทอง หนามสีทองเป็นหนามแข็ง หนามคม ติดดอกง่าย ดอกเล็กๆ ออกรอบวงของต้น ดอกสีขาว มีดอกออกเรื่อยๆ สามารถติดฝักได้เอง โดยไม่ต้องผสม ชอบแดด 70-80% หากเลี้ยงได้แดดดี ต้นจะฟอร์มกระชับ หนามถี่และแน่น สีทองสวยงาม ในระหว่างช่องตุ่มหนามจะมีปุยขาว หากไม่แยกหน่อไปปลูกก็จะเป็นไม้ฟอร์มกอโต

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด และการชำหน่อ สามารถเด็ดหน่อ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


สกุล โอพันเทีย ( Opantia ) ในภาพเป็น ไมโครดาซิส ( O.microdasys ) หรือที่เรียกันว่า หนูกระต่าย, เสมาเงิน, หูกระต่ายขาว ลักษณะมีตุ่มขนหนามขนาดเล็กกระจายตัวออกมาเป็นกลุ่ม ซึ่งขนหนามนี้ต้องระวังไม่ควรใช้มือสัมผัสโดยตรงเพราะจะติดกับผิวหนังและทำให้เกิดการระคายเคืองได้ ชอบแดด 80-100% หากได้รับแสงแดดเพียงพอ ขนหนามจะยิ่งฟูแน่น ใบกลมไม่ยืดยาว

การขยายพันธุ์ : ใช้การปักชำ สามารถเด็ดใบ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกใบ แตกหน่อออกมาเรื่อยๆ










สกุล แมมมิลลาเรีย ( Mammillaria ) ในภาพเป็น ไซเดียนา ( M.schiedeana ) หรือที่เรียกันว่า แมมขนนกเหลือง ขนหนามเป็นกระจุก และบานออก ขนหนามมีความอ่อนนุ่มไม่แหลมคม สีขนหนามมีความเข้มอ่อนต่างกันตามแต่ที่ผสมพันธุ์กันมา ดอกเล็กๆออกรอบวงของต้น ดอกออกเรื่อยๆ ทุกฤดู แต่จะมากเป็นพิเศษในฤดูหนาว สีของดอกมีหลายหลายสี ที่พบบ่อยคือ สีขาว และชมพู ส่วนสีออกชมพูอมแดง หรืออมม่วงนั้นจะพบได้ยากกว่า เมื่อโต และไม่ได้แยกหน่อไปปลูก จะเป็นฟอร์มกอ หัวกลมขนาดไม่ใหญ่มากแตกออกเป็นพุ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ชอบแดด 80-90% หากต้องการให้ได้ฟอร์มกลมสวย ต้องเลี้ยงให้ได้รับแสงแดดยาว นาน 6-8 ชม.ต่อวัน ไม่ค่อยชอบชื้น เว้นการรดน้ำได้นาน กว่ากระบองเพชรชนิดอื่นๆ

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด และการชำหน่อ สามารถเด็ดหน่อ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


สกุล ยิมโนคาไลเซียม ( Gymnocalycium ) ในภาพเป็น มิฮาโนวิชิอาย ( Minanovichii ) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า ยิโนมิฮา ต้นพื้นฐานจะมีสีเขียว และมีที่เป็นไม้ด่าง หากเป็นมือใหม่การเลี้ยงไม้เขียวจะง่ายกว่าการเลี้ยงไม้ด่าง ยิมโนจะชอบความชื้นมากกว่ากระบองเพชรสายพันธุ์อื่นๆ แดด 60-80% ผิวไม้จะเขียวสวยกว่าการเลี้ยงแดดแรง สามารถเลี้ยงแดดแรงได้ หรือเลี้ยงตามธรรมชาติแบบแดด100% ฝน100% แต่ผิวของไม้อาจจะไหม้แดดง่าย หรือผิวกร้านไม่เขียวใส จะมีดอก และหน่อ งอกตามตุ่มหนาม ดอกจะออกมาในช่วงฤดูร้อน ดอกหลักๆ มี 2 สี คือ ขาว และชมพู แต่จะมีหลากหลายโทนและเฉด

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด และการชำหน่อ สามารถเด็ดหน่อ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ


ส่วนลดพิเศษ จาก ฿369 เหลือเพียง ฿89

สกุล อิชินอปซิส ( Echinopsis ) ในภาพเป็น ซับเดนูดาตา ( E.subdenudata ) เป็นแคคตัสที่เลี้ยงได้ง่าย ชอบชื้นแต่ไม่แฉะ อากาศถ่ายเทดีอยู่ได้ทั้งแดด 60% จนถึงเลี้ยงกลางแจ้งแดด 100% แต่ถ้าหากเลี้ยงแดดแรงต้องหมั่นรดน้ำ เพราะหากขาดน้ำต้นจะซีดเหลืองไหม้แดดได้ง่าย เป็นไม้ที่แตกกอ แตกหน่อยได้ง่ายเมื่ออายุถึงวัย ดอกสีขาวใหญ่ มีกลิ่นหอมอ่อน สดชื่นๆ เมื่อดมใกล้ๆ ดอกจะบานในตอนกลางคืน และโรยในตอนเที่ยง

การขยายพันธุ์ : ชำหน่อ สามารถเด็ดหน่อ และปักบนดินปลูกได้เลย เมื่อรากเดินดีก็จะแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ

กระบองเพชรทั้งหมดนี้ใช้วัสดุปลูกเหมือนกัน แตกต่างกันตรงการให้น้ำ และแสงแดดที่ต้องการ วัสดุปลูกควรเป็น ดินกระบองเพชร โดยเฉพาะ เพราะจะมีคุณลักษณะเครื่องปลูกที่โปร่ง และระบายน้ำ ความชื้น ในการปลูกควรรองก้นกระถางเพื่อให้ดินระบายความชื้นได้ดี

📌 รวมพิกัด ไอเท็มทำสวนไว้ให้เลือกช้อป !!

Advertisement  / โฆษณา

มือใหม่ เริ่มสนใจปลูก กระบองเพชร (แคคตัส) ไม้อวบน้ำ ต้องเริ่มยังไง??


สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ในการเริ่มปลูก กระบองเพชร คือ การเริ่มเรียนรู้ในสกุล และชนิด ของกระบองเพชร กระบองเพชรนั้นมีหลายสกุล ในแต่ละสกุล มีแตกแยกย่อยไปอีกหลายชนิด การเลี้ยงดูนั้นมีความยาก และง่าย ยังมีต่างกันไปอีกด้วย

ดังนั้นหากจะเริ่มเลี้ยงควรเลือกที่เลี้ยงดูได้ง่ายๆ ซึ่งสกุลที่เลี้ยง และดูแลได้ง่ายๆ อาทิเช่น ยิมโนคาไลเซียม ( Gymnocalycium ) อิชินอปซิส ( Echinopsis ) โอพันเทีย ( opuntia ) แมมมิลลาเรีย ( mammillaria ) บางชนิด

ลำดับต่อมาคือการให้น้ำ สภาพแวดล้อม และวัสดุปลูก ด้วยกระบองเพชรไม่ใช่ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในบ้านเรา ฉะนั้น ดิน สภาพแวดล้อม ก็ควรจะให้ใกล้เคียงกับถิ่นกำเนิดของกระบองเพชร ที่เป็นที่แห้งแล้ง ความชื้นไม่มาก แสงแดดเพียงพอตลอดทั้งวัน ดินที่ใช้ปลูกไม่อุ้มน้ำมาก น้ำไม่ขัง









ลักษณะโดยพื้นฐานของกระบองเพชร ตัวต้นจะมีหลากหลายลักษณะตามสายพันธุ์ ต้นเป็นฟอร์ม ตอสูง กลมแตกหน่อเป็นพุ่ม หรือเป็นหัวเดียว มีทั้งมีหนาม และไม่มีหนาม ลักษณะของหนาม มีทั้งเป็นหนามแข็งแหลม คม และขนหนามแบบอ่อนนุ่ม ลักษณะของราก ทั้งที่รากเป็นฝอย หรือมีลักษณะเป็นโขด

มีดอกเพื่อใช้ในการสืบพันธุ์ แต่ละสกุลจะให้ดอกยากง่ายแตกต่างกัน สีของดอกมีทั้ง ขาว ชมพู แดง ส้ม เหลือง ม่วง แล้วแต่สกุล ส่วนใหญ่ดอกบานในตอนกลางวัน ช่วงเที่ยง-บ่าย และหุบในตอนกลางคืน และมีบางสกุลดอกบานในตอนกลางคืน และโรยในตอนเที่ยง

การขยายพันธุ์ คือ การผสมเกสรจนติดฝัก และนำไปเพาะเมล็ด แต่จะมีบางสกุล ที่สามารถชำหน่อได้

อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้ควบคู่ไปกับการเลี้ยงคือ โรค และอาการป่วย โดยหลักๆ โรคและอาการป่วยของกระบองเพชรนั้น เกิดได้จาก 2 ปัจจัยคือ สภาพแวดล้อม และแมลง ศัตรูพืช ที่พบบ่อย อาทิเช่น ไร, เพลี้ย, รา ในการรักษาก็มีหลายวิธี โดยจะมีตัวยาที่เป็นสารเคมี หรือจุลินทรีย์ที่นำมาใช้แตกต่างกันไป

📌 รวมพิกัด ไอเท็มทำสวนไว้ให้เลือกช้อป !!

Advertisement  / โฆษณา

เลี้ยงไลทอป (LITHOPS) ยังไง.?? ให้รอด.. ไม่ตายง่าย


how-to-lithops-care-1.jpg

มีหลายคนถึงขนาดกับถอดใจ ในการเลี้ยงเจ้า ไลทอป เพราะด้วยความอ่อนไหวของต้นที่ทำให้กลับดาวได้ง่าย แต่ถ้าหากเราเข้าใจธรรมชาติ และการดูแลของเขา จริงๆ แล้วไลทอป ก็เลี้ยงไม่ได้ยากอย่างที่คิด

สิ่งสำคัญในการเลี้ยงก็คือ การทำสภาพแวดล้อมที่เลี้ยงให้เหมาะกับเขา เหมือนกับการเลี้ยงไม้อวบน้ำอื่นๆ  ที่มีปัจจัยหลัก 3 อย่าง คือ แสง น้ำ ดินหรือวัสดุปลูก โดยทั้ง 3 ปัจจัยนั้น ต้องมีความสมดุลพอเหมาะพอดี

how-to-lithops-care-2.jpg









แสงแดด

ไลทอป ต้องการชั่วโมงแดดต่อเนื่องอย่างน้อย 4-8 ชม. หากได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ สิ่งที่ตามคือ ลักษณะต้นที่จะเสียฟอร์ม ยืดยาว ไม่กลมมนกระชับ และควรเป็นแดดที่มีความเข้มข้น 60-80 % หากที่ๆ วางนั้นมีแดดแรงมาก อาจจะต้องใช้สแลนกางเพื่อช่วยในการพรางแสง

เพราะถ้าหากแดดที่ได้รับแรงเกินไปต้นก็อาจจะไหม้ หรือสุกแดดได้ และถ้าหากแสงแดดน้อยเกินไป ก็อาจจะทำให้ดินเก็บความชื้นไว้นานเกิน จนทำให้เกิดการโคนเน่าได้ อุณหภูมิในที่ๆ วางก็ไม่ควรสูง หรืออบมาก มีลมพัดผ่านอากาศถ่ายเทได้สะดวก

น้ำ

การได้รับน้ำที่พอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพราะถ้าได้รับน้ำไม่เพียงพอ รากอาจจะตายและเสีย ทำให้ต้นเหี่ยวย่น แต่ถ้าน้ำมากเกินไป ต้นก็อาจจะปริแตกได้ง่าย ฉะนั้นการให้น้ำจึงค่อนข้างสำคัญ

โดยวิธีให้ก็สามารถรดได้เหมือนกับต้นไม้ทั้่วไป รดจนน้ำไหลออกก้นกระถาง และในรดน้ำครั้งต่อไป จะรดเมื่อดินแห้งไม่มีความชื้นแล้ว หรือต้นแสดงอาการว่าต้องการน้ำ โดยสังเกตุได้จากรอยย่นบางๆ ที่ลำต้น หากไม่ใช่ช่วงผลัดใบ หลังจากให้น้ำแล้ว รอยย่นนั้นก็จะตึงขึ้นและหายไป




ดิน หรือวัสดุปลูก

ดินไลทอป หรือวัสดุนิยมนำมาผสม ใช้ปลูกก็มีหลากหลาย โดยที่นิยมใช้ก็จะเป็น พีทมอส เพอร์ไลต์ หินภูเขาไฟ ดินอคาดามะ ดินคานูมะ ซึ่งก็จะมีสูตรแตกต่างกันไป แต่สำคัญคือจะต้องผสมให้โปร่ง ไม่เก็บน้ำจนชุ่ม เก็บความชื้นพอเหมาะ

อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงก็คือ หินโรยหน้ากระถาง หรือหินโรยประคองต้น ต้องไม่เก็บความชื้นมากเกินไป และควรเป็นวัสดุที่ช่วยให้ความชื้นในดินระเหยได้เร็ว ที่นิยมใช้ หินกรวด ดินญี่ปุ่น หินภูเขาไฟ และในการโรยไม่ควรโรยหนา หรือแน่นไป เพราะเมื่อเกิดความชื้นสะสมมาก เมื่อมาบวกกับแสงแดดและอุณหภูมิที่สูง จะทำให้โคนต้นเน่าได้

PHOTO : PINTEREST

โดยตามธรรมชาติ ตัวต้นไลทอป นั้นจะฝั่งตัวเองลงไปในหิน และบริเวณอยู่ก็จะเป็นดินหินทราย แห้งๆ ร่วนๆ ด้วยลักษณะรากที่เป็นฝอยขนาดเล็ก ลักษณะดินจึงควรจะต้องร่วนซุย และไม่จับตัวแน่น แห้งง่าย ไม่เก็บความชื้นเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการเน่าได้ง่าย

เมื่อปัจจัยหลักในการเลี้ยงสามารถทำได้พอเหมาะ หรือใกล้เคียงกับธรรมชาติของเขาแล้ว การเลี้ยงดูระยะยาวก็จะเป็นเรื่องง่าย อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ “การปลูก”

สิ่งที่ควรจะต้องทำ และคำถึงในการปลูกไลทอปมีอะไรบ้าง??

1 . กระถางปลูก  ควรเลือกขนาดให้เหมาะสม ไม่ใหญ่ หรือเหลือพื้นที่มากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความชื้นสะสมในดินมาก และวัสดุของกระถางหากเลือกใช้เป็น พลาสติก หรือดินเผา ก็จะช่วยลดเรื่องการเก็บกักความชื้นที่เกินพอดีได้

2. ลักษณะการปลูก ด้วยไลทอป เป็นไม้ขนาดเล็ก จึงมักจะนิยมปลูกรวมๆ กันหลายต้นในกระถางเดียว แต่การปลูกรวมกันสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ขนาดของต้น ไม่ควรนำต้นเล็กหรือใหญ่ต่างกันมากปลูกในกระถางเดียวกัน เพราะถ้าหากเว้นที่ไม่เหมาะสม หรืออยู่ติดกันมาก ต้นเล็กมักจะถูกแย่งน้ำและอาหารได้

3. วัสดุโรยหน้ากระถาง ที่เลือกใช้มีส่วนช่วยในเรื่องความชื้น เช่น จำพวกดินญี่ปุ่น หรือหินภูเขาไฟ หากใช้เป็นวัสดุเหล่านี้ในการโรยหน้ากระถาง ก็จะช่วยเรื่องการระบายความชื้นได้ดี และยังช่วยให้สังเกตเห็นความชื้นในดินได้ง่ายขึ้น จากสีที่เข้มทำให้รู้ว่าดินยังมีความชื้นอยู่

4. การตัดแต่งรากก่อนปลูก เป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องทำก่อนนำต้นลงปลูก เพราะรากไลทอปเมื่อถูกดึงหรือ ถอนออกมาแล้วนั้น จะเสื่อมสภาพและตาย หากเราไม่ตัดแต่งก่อนปลูก จะทำให้ต้นไม่สามารถดูดซึมความชื้นไปใช้ได้ ดินจะชื้นและทำให้เกิดการเน่าโคนต้นได้ หรือถ้ารากไม่สามารถทำงานได้ ต้นที่ปลูกใหม่ก็จะย่นยุบจนตาย และรากที่ตายน้ั้น เกิดการเน่าในดิน ทำให้เกิดเชื้อราในดินได้ การตัดแต่งรากนั้น จะทำให้ต้นกระตุ้นการเกิดรากใหม่ ช่วยให้ฟื้นตัวหลังการเปลี่ยนกระถางได้เร็วขึ้น

5. การปรับแดดหลังปลูก หลังจากปลูกควรพักให้ต้นฟื้นตัวในแดดร่ำไร หรือสัก 40-50% พอสังเกตว่ารากเริ่มเดิน ต้นตึงปกติ ค่อยปรับแดดตามสภาพการเลี้ยงปกติ

6. ไลทอปค่อนข้างไวต่อสารเคมีและยา หากหลีกเลี่ยงได้ ควรใช้เป็นพวกชีวภัณฑ์แทน หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ยา ควรผสมให้อ่อนหรือเจือจางลง

7. ปุ๋ย หรืออาหารบำรุง โดยส่วนมากจะนิยมใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ และไม่ควรให้บ่อย หรือเยอะไป เพราะจะทำให้ต้นโตแบบผิดฟอร์ม หรือสีสันจะออกเขียว มากกว่าสีสันที่เป็นลักษณะของต้น เพราะได้รับไนโตรเจนสูงมากไป

วิธีเลี้ยงและดูแลโดยหลักๆ คือ การเริ่มต้นที่ดี หากปัจจัยทุกอย่างพอดีเหมาะสม
เจ้าไลทอปก็ไม่ตายง่าย และทนทาน เจริญเติบโตได้ดี

📌 รวมพิกัด ไอเท็มทำสวนไว้ให้เลือกช้อป !!

Advertisement  / โฆษณา

กระบองเพชร สกุล แมมมิลลาเรีย (Mammillaria ) การเลี้ยง และดูแล


ลักษณะของต้น

เป็นสกุลกระบองเพชรที่มีความหลากหลายของลักษณะ มีทั้งชนิดที่มีหนามแหลม และเป็นขนหนามอ่อนนุ่ม ลักษณะ โครงสร้าง ลำต้น มีเนื้อแกนกลาง แตกออกเป็นตุ่ม และมีหนาม หรือขนหนาม ที่ปลายตุ่ม ขนหมามมีทั้งสีขาว สีเหลืองทอง หรือออกโทนแดง แล้วแต่ชนิดของต้น ซึ่งตุ่มหนามแมมมิลลาเรียบางชนิด สามารถนำมาชำเพื่อขยายพันธุ์ได้ เช่น แมมขนนก

ช่องว่างระหว่างตุ่มหนาม โดยส่วนมากจะมีเป็นปุยขาวลักษณะคล้ายปุยนุ่นสำลีแทรกอยู่ ด้วยลักษณะของแมมมิลลาเรียที่ลำต้นมีเนื้อเยื้อแกนกลางลำต้นค่อนข้างน้อย และอ่อนนุ่ม ธรรมชาติของต้นจึงสร้างปุยขึ้นมาเพื่อปกป้องไม่ให้แกนลำต้นโดนแสงแดดมากเกินพอดี เมื่อเจริญเติบโตอายุมากจะแตกหน่อเป็นกอใหญ่ขยายขึ้นเรื่อยๆ









ลักษณะของดอก

แมมมิลลาเรีย สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นและสารอาหารที่เพียงพอ แต่ฤดูที่มีดอกเยอะ เหมาะกับการขยายพันธุ์ที่สุดคือ ฤดูหนาว ลักษณะการออกดอกจะออกเป็นวงรอบ ต้นหรือหน่อครอบคล้ายลักษณะของมงกุฎ สีของดอกที่พบได้บ่อยคือ ขาว และชมพู ม่วง มีโทนออกแดงเข้มบ้าง แต่จะพบได้น้อยกว่า ดอกจะบานในช่วงตอน สายๆจนถึงเย็น และหุบ ระยะเวลาออกดอก 2-3 วัน ก็จะโรย

การขยายพันธุ์

เพาะเมล็ด ชำหน่อ ปาดยอดให้แตกกอ หรือ ออกหน่อเพิ่ม และมีในบางชนิดสามารถติดฝักได้เองโดยไม่ต้องผสม เช่น แมมพิกุล แมมนิโวซา ซึ่งสกุลแมมมิลลาเรีย จะมีไม้ที่เป็นลูกผสม หรือ ไฮปริด ( Hybrid ) ค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นไม้ที่ได้จากการผสมข้ามชนิด จึงทำให้มีความหลากหลายในลักษณะของขนหนาม โดยลูกที่ออกมานั้น จะมีลักษณะเด่นของทั้ง 2 ชนิดผสมกัน




สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

แมมมิลลาเรียเป็นไม้ที่ชอบแดดค่อนข้างจัด 70-80 % ชั่วโมงแดดยาวนานต่อเนื่อง 6-8 ชั่วโมง หากเลี้ยงแสงแดดน้อยขนหนามจะกางออก เพื่อพยายามรับแสงมากขึ้น ที่ทำให้ขนหนามไม่แน่นฟู ฟอร์มต้นจะไม่กระชับ ต้นไม่สวยลำต้นยืดยาว ไม่กลมมน

เป็นกระบองเพชรที่ไม่ชอบความชื้นเยอะ ดินที่ใช้ปลูก ต้องโปร่ง ระบายความชื้น และอากาศภายในดินถ่ายเทได้ดี หากมีความชื้นสูงแต่เสี่ยงกับโรคเน่า หรือเชื้อราได้ สามารถเว้นระยะการรดน้ำได้นานกว่ากระบองเพชรชนิดอื่นๆ วิธีการดน้ำ คือให้รดจนชุ่มจนน้ำไหลออกรูก้นกระถาง รดน้ำครั้งถัดไปเมื่อดินแห้ง

และถ้าหากต้องการกระตุ้นการออกดอกจะใช้วิธีอดน้ำ เพื่อกระตุ้นสภาพการอยู่รอด จะช่วยให้กระตุ้นการออกดอก เพื่อขยายเผ่าพันธุ์ โดยการอดน้ำนานกว่าปกติที่เคยรด แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ซึ่งต้องดูระยะการอดน้ำ และปรับตามสภาพแวดล้อมของแต่สถานที่เลี้ยง ซึ่งจะไม่การนับวัน หรือสูตรที่ตายตัว ซึ่งการใช้การกระตุ้นด้วยวิธีควรดูว่าต้นไม้แข็งแรง ไม่อยู่ในช่วงป่วย หรือพักฟื้น

อีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้เลี้ยงแมมมิลลาเรียได้สวยก็คือควรจะมีโรงเรือน จะเป็นระบบเปิด หรือปิดก็ได้ แต่หากเลี้ยงเป็นระบบปิดควรจะมีระบบระบายอากาศภายในเพื่อป้องกันความชื้น หรืออากาศอบอ้าวภายในโรงเรือน ที่จะเป็นสาเหตุ ให้เน่าง่ายได้เหมือนกัน เนื่องจากแมมมิลลาเรียไม่เหมาะกับการเลี้ยงที่โดนฝนโดยตรง เพราะมีโอกาสที่จะทำให้ต้นเน่าหรือเชื้อราได้ง่าย ฉะนั้นการมีโรงเรือนจะทำให้การควบคุม อุณหภูมิ น้ำ และปรับแสงง่ายต่อการเลี้ยงดู




ลักษณะของดอก
โรค และศัตรูพืช

เพลี้ย, ไรแดง, ราที่เกิดจากความชื้นในช่วงฤดูฝน

บทความที่เกี่ยวข้องผสมเกสรแมมมิลลาเรีย (MAMMILLARIA) ง่ายๆ ให้ติด ฝัก นำไปเพาะเมล็ดด้วย ปลายพู่กัน >>คลิก<<

📌 รวมพิกัด ไอเท็มทำสวนไว้ให้เลือกช้อป !!

Advertisement  / โฆษณา