คุณสมบัติ ดินดี มีคุณภาพ ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง


การเตรียมดิน ดินปลูกพืช ดินปลูกต้นไม้ เป็นปัจจัยหลักในการทำให้ได้ต้นไม้ที่แข็งแรง ได้ผลผลิตดี และต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากการปลูกแล้ว สิ่งที่จะต้องดูแลแลทำต่อเนื่องคือ การรักษาสมดุลในดิน ให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช หรือต้นไม้

เพราะถ้าหากขาดการดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่องแล้วนั้น สิ่งที่จะตามมาก็คือ สภาวะเสียสมดุลในดิน จนทำให้ค่า กรด-ด่างในดินไม่เหมาะกับพืช หรือต้นไม้ จนสุดท้ายอาจทำให้เกิดภาวะดินตาย หรือดินเสื่อมคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลเสียโดยตรงกับพืช หรือต้นไม้ ทำให้เกิดการขาดธาตุอาหาร ขาดออกซิเจนในดินที่ส่งผลกับราก และทำให้ต้นอ่อนแอลง เกิดโรคได้ง่าย จนทำให้ต้นไม่สามารถเจริญเติบโต ผลิดอก ออกผล ได้ตามเกณฑ์ปกติ หรือยืนต้นตายในที่สุด

ในการเพาะปลูกพืช หรือต้นไม้ ในพื้นที่เดิม กระถางเดิม เป็นระยะเวลานาน ดินจะเสื่อมคุณภาพลง จากการที่ต้นดึงแร่ธาตุ และสารอาหารไปใช้อย่างต่อเนื่อง และอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลในระยะยาวของสภาวะดินเสื่อมก็คือ การใช้สารเคมีกับพืช และต้นไม้ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสารเคมีที่อยู่ในดินนั้น อยู่นานกว่าธรรมชาติจะปรับสภาพดิน หรือชะล้างออกไปได้ ซึ่งอาจจะใช้เวลาหลายปี และเมื่อถูกชะล้างแล้วยังส่งผลกระทบไปถึงระบบน้ำธรรมชาติในละแวกใกล้เคียงอีกด้วย

ดังนั้นการดูแล และบำรุงดิน โดยใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาตินั้นส่งผลดีกับดินทุกๆ ด้าน ในระยะยาวของระบบนิเวศ และต้วของผู้ปลูกเองด้วย

ซึ่งองค์ประกอบของดินที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืช หรือต้นไม้
ประกอบไปด้วย 4 ส่วน คือ อนินทรีย์วัตถุ 45% น้ำ 25% อากาศ 25% อินทรีย์วัตถุ 5%

อนินทรีย์วัตถุ
อนินทรียวัตถุ หรือแร่ธาตุ เป็นส่วนที่สำคัญในการควบคุมลักษณะของเนื้อดิน เป็นแหล่งกำเนิดของธาตุอาหารพืช และเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ดิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่มีปริมาณมากที่สุดในดินทั่วไป ได้มาจากการผุพังสลายตัวของหินและแร่ อนินทรียวัตถุ อยู่ในดินในลักษณะของชิ้นส่วนที่เรียกว่า อนุภาคดิน ซึ่งมีหลายรูปทรงและมีขนาดแตกต่างกันไป

อินทรียวัตถุ
อินทรียวัตถุ ในที่นี้มีความหมายครอบคลุมตั้งแต่ ส่วนของซากพืชซากสัตว์ที่กำลังสลายตัว จุลินทรีย์ ทั้งที่มีชีวิตอยู่ และในส่วนที่ตายแล้ว ตลอดจนสารอินทรีย์ที่ได้จากการย่อยสลาย หรือถูกสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ แต่ไม่ได้รวมถึงรากพืช หรือเศษซากพืช หรือซากสัตว์ที่ยังไม่มีการย่อยสลาย

อินทรียวัตถุในดินนี้ เป็นแหล่งสำคัญของธาตุอาหารพืช เป็นแหล่งอาหาร และพลังงานของจุลินทรีย์ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และกำมะถัน อีกทั้งยังเป็นส่วนที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อกายภาพของดิน เช่น โครงสร้างดิน ความร่วนซุย การระบายน้ำ การถ่ายเทอากาศ การดูดซับน้ำ และธาตุอาหารของดิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินที่จะส่งต่อไปถึงพืช และต้นไม้

น้ำ
ส่วนของน้ำที่พบอยู่ในช่องว่างระหว่างอนุภาคดิน หรือเม็ดดิน มีความสำคัญมากต่อการปลูก และการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากเป็นตัวช่วยในการละลายธาตุอาหารต่างๆ ในดิน และเป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนย้ายอาหารพืชจากรากไปสู่ส่วนต่างๆ ของพืช

อากาศ
ส่วนของก๊าซต่างๆ ที่แทรกอยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดดิน ในส่วนที่ไม่มีน้ำอยู่ ก๊าซที่พบโดยทั่วไปในดิน คือ ก๊าซไนโตรเจน (N2) ออกซิเจน (O2) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งรากพืช และจุลินทรีย์ดินใช้ในการหายใจ และสร้างพลังงานในการดำรงชีวิต

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน   กรมพัฒนาที่ดิน   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

ขอบคุณคลิป : กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์