กระบองเพชร สกุล แอสโตรไฟตัม (Astrophytum) การเลี้ยง และดูแล


กระบองเพชร (แคคตัส) สกุล แอสโตรไฟตัม ( Astrophytum ) เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์กระบองเพชรที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย และมีการพัฒนาสายพันธุ์ อยู่เรื่อยๆ จนทำให้มีทรง และลวดลายแปลกตามากขึ้น

ลักษณะของต้น

ลักษณะที่โดดเด่นของต้นคือ ผิวสีเขียวเข้มสด ตัดกับลายบนต้นที่เป็นสีขาว ลวดลายมากมายแปลกตา ตามที่ได้พัฒนา และผสมพันธุ์ มีดอทปุย เป็นตุ่มขนขึ้นบนผิวต้น มีชนิดที่มีหนามและไม่มีหนาม แต่ที่นิยมและมีผู้เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์กันมากจะเป็นชนิดที่ไม่มีหนามอย่าง แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส ( A.asterias ) , แอสโตรไฟตัม ไมริโอสตริกมา ( A.myriostigma )



แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส มีการพัฒนาสายพันธุ์จากญี่ปุ่น จนทำให้เกิดลวดลายบนต้นที่แตกต่าง แตกย่อยอีกมากมาย โดยจะมีชื่อเรียกกันตามลักษณะ

KABUTO ( คาบุโตะ ) ลักษณะ : จะมีลวดลายขาวประปราย กระจายทั่ว ดอทต้นขนาดเล็ก เรียงตามเส้นพู ของต้น

• SUPER KABUTO ( ซูเปอร์คาบุโตะ) ลักษณะ : มีลายสีขาวหนา แน่น กว่าคาบุโตะปกติ ปื้นสีขาวมีลายหนา แปลกตา

• V-TYPE ( วีไทป์ ) ลักษณะ : มีลายสีขาวเป็นรูปตัวอักษรวี (V) เรียงไล่ตามดอท ตามแนวของพู หากต้นไม่มีลวดลาย เป็นสีเขียวและมีเพียงลายวี สีขาว จะเรียกว่า วีนูดัม ( V-Nudum )

• NUDUM ( นูดัม ) ลักษณะ : ผิวของต้นจะเกลี้ยงเขียว ไม่มีลาย หรือจุดสีขาวบนต้นเลย มีเพียงดอทปุย

• HANAZONO ( ฮานะโซโนะ ) ลักษณะ : มีดอทปุยเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วต้น มีลวดลายต่างๆ ไม่ซ้ำกัน ซึ่งดอทที่กระจายอยู่นี้ทำให้สร้างตาดอกได้หลายตำแหน่งมากกว่าปกติ จึงเป็นแอสโตรที่มีตำแหน่งการออกดอกได้ทั่วต้น ต่างกับแอสโตรปกติที่จะออกดอกที่ตุ่มหนามปลายยอดของต้น

• RENSEI ( เรนเซ ) ลักษณะ : ดอทปุย ตุ่มขน เรียงชิดติดกันมีลักษณะคล้าย “สร้อย” โดยปกติหากเป็น KABUTO ทั่วไป ดอทจะไม่เรียงชิดติดกัน จะมีระยะห่างระหว่างดอท

• OOIBO ( โออิโบะ ) ลักษณะ : ดอทปุย ตุ่มหนาม มีขนาดใหญ่กว่าปกติมาก และถ้าเป็นดอทที่ใหญ่กว่าปกติ และเรียงชิดกันเป็นสร้อย ก็จะเรียกว่า OOIBO RENSEI ( โออิโบะ เรนเซ )

• KIKKO ( กิ๊กโกะ ) ลักษณะ : ตุ่มหนามเป็นบั้ง และหยักเว้าเป็นร่องลึก และกว้างต่างกันไป มีลักษณะของสันพูที่แบ่งกันระหว่างแต่ละตุ่มหนาม คล้ายกับกระดองเต่า

• EKUBO ( คุโบะ ) ลักษณะ : มีรอยขีดสั้นๆ ขวาง ระหว่างพู หรือใต้ดอทหนาม เรียงตามพูคล้าย “ลักยิ้ม”

• FUKURYU ( ฟุคุริว ) ลักษณะ : ผิวยับย่น ขึ้นเป็นริ้วหยัก ซ้อนกันไป

• FUKURYO ( ฟุคุเรียว ) ลักษณะ : มีพูแทรกจากปกติ หรือพูเล็กๆ เหมือนติ่ง แทรกอยู่ในระหว่างพูใหญ่ปกติ

SNOW ( สโนว์ ) ลักษณะ : มีลาย หรือขนสีขาวขนาดติดกันเป็นปื้นใหญ่ จำนวนมากปกคลุมผิวของต้นแทนจะมองไม่เห็นสีเขียวของต้น

• STAR SHAPE ( สตาร์ เชฟ ) ลักษณะ : ลำต้นจะไม่กลมเหมือนแอสโตรทั่วไป จะมีความเว้าลึกระหว่างพู ที่เว้าไปจนถึงโคนต้น หากวางต้นหงายขึ้นจะเห็นรองระหว่างพูที่เว้าชัดเจน มองจากด้านบนลักษณะเหมือนดาว ต่างกับแอสโตรปกติที่เป็นลักษณะกลม

ส่วนที่เป็นแอสโตรไฟตัม ที่มีหนาม ได้แก่ แคปริคอร์น ( A.capricorne ), ออร์นาตัม ( A.arnatum ) เมื่อต้นยืนอายุมากต้นจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ลักษณะของดอก

ดอกมีเรื่อยๆ ในทุกฤดู แต่จะมากในฤดูร้อน ที่เหมาะเป็นการผสมพันธุ์ ดอกบานในช่วงเที่ยง-บ่าย และหุบตอนเย็น ดอกบาน 1-3 วันก็จะโรย เมื่อมีการผสมเกสรติดดอกจะปิดทันที มีดอกเป็นสีเหลืองส่วนใหญ่ แต่จะมีพบเป็นสีชมพู หรือชมพูโทนแดงได้ด้วย แต่จะค่อนข้างหายากกว่าสีเหลือง และจะมีชื่อเรียก ดอกสีชมพูโทนแดงว่า AKABANA ( อคาบานะ ) กลีบดอกปกติ จะยาวกว้าง ปลาย ขอบกลีบดอกเรียบ หากมีหยักหรือริ้ว จะเรียกว่า ดอกขนนก ซึ่งจะหาได้ยาก ดอกที่มีลักษณะแปลก และพบได้ยากอีกแบบคือ ดอกชินโชวะ ( Shinshowa ) ลักษณะของกลีบดอกจะเล็กเรียวเป็นเส้นฝอย

การขยายพันธุ์

ผสมเกสร ติดฝัก นำไปเพาะเมล็ด เป็นการผสมข้ามต้น และสามารถผสมข้ามชนิดกันได้ที่เป็นสกุลเดียวกัน เช่น แอสทีเรีย ผสมกับ ไมริโอสตริกมา ก็จะได้มาเป็นลูกผสม ที่มีลักษณะเด่นของทั้ง 2 ออกมาในรุ่นลูก ลูกผสมจะเรียกกันว่า Hybird (ไฮปริด)

สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

แอสโตร เป็นไม้ที่ค่อนข้างชอบชื้นกว่า กระบองเพชรทั่วไป ไม่ชอบแดดแรง หากเลี้ยงแดดจัดจะทำให้ผิวไหม้ง่าย หรือไม่เป็นสีเขียวใส เว้นแต่ในต้นที่มีลายขาวปกคลุมมาก หรือสโนว์ ที่จะทนแดดได้ดีกว่าไม้ที่มีผิวเขียวเยอะ ฉะนั้นการเลี้ยงจึงควรพลางแสง ด้วยสแลน หรือเป็นแดด 60-70% จะทำให้ไม้มีผิวที่สวยไม่กร้านแดด

ดินโปรงชื้น แต่ไม่แฉะ ดินไม่ชุ่มน้ำนาน ระบายความชื้นได้ดี รดน้ำเมื่อดินแห้ง ช่วงหน้าฝนต้องระวังไม่ให้ดินมีความชื้นมากเพราะจะเกิดคราบน้ำโคนต้น หรือโรคที่เกิดจากแบคทีเรียบางอย่างได้ เมื่อเกิดรอยแผลแล้วจะเป็นแผลตลอดรักษาไม่หาย นอกจากรอให้ต้นโต และผิวไล่ลงโคนต้น และเมื่อถึงระยะเปลี่ยนดิน หรือต้นโตคับกระถางควรเปลี่ยนดิน ขยายขนาดกระถาง เพื่อให้ต้นไม่ชะงักการโต หากปล่อยไว้นาน รากแน่น ความชื้นไม่พอจะทำให้โคนต้นยุบได้ง่าย และหากรากไม่มีการกระตุ้น หรืออ่อนแอ จะโดนโรค หรือศัตรูพืช รุ่มเร้าได้ง่าย

โรค และศัตรูพืชที่พบบ่อย

เพลี้ยแป้ง กัดกินราก และต้น, เพลี้ยญี่ปุ่น กินยอด , เพลี้ยหอย เกาะต้น, แคงเกอร์ เกาะ กัดกินผิว, หนู ที่ค่อยกัดกินต้น และกินฝักเมื่อผสมเกสรติด

มือใหม่ เริ่มสนใจปลูก กระบองเพชร (แคคตัส) ไม้อวบน้ำ ต้องเริ่มยังไง??


สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ในการเริ่มปลูก กระบองเพชร คือ การเริ่มเรียนรู้ในสกุล และชนิด ของกระบองเพชร กระบองเพชรนั้นมีหลายสกุล ในแต่ละสกุล มีแตกแยกย่อยไปอีกหลายชนิด การเลี้ยงดูนั้นมีความยาก และง่าย ยังมีต่างกันไปอีกด้วย

ดังนั้นหากจะเริ่มเลี้ยงควรเลือกที่เลี้ยงดูได้ง่ายๆ ซึ่งสกุลที่เลี้ยง และดูแลได้ง่ายๆ อาทิเช่น ยิมโนคาไลเซียม ( Gymnocalycium ) อิชินอปซิส ( Echinopsis ) โอพันเทีย ( opuntia ) แมมมิลลาเรีย ( mammillaria ) บางชนิด

ลำดับต่อมาคือการให้น้ำ สภาพแวดล้อม และวัสดุปลูก ด้วยกระบองเพชรไม่ใช่ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในบ้านเรา ฉะนั้น ดิน สภาพแวดล้อม ก็ควรจะให้ใกล้เคียงกับถิ่นกำเนิดของกระบองเพชร ที่เป็นที่แห้งแล้ง ความชื้นไม่มาก แสงแดดเพียงพอตลอดทั้งวัน ดินที่ใช้ปลูกไม่อุ้มน้ำมาก น้ำไม่ขัง

ลักษณะโดยพื้นฐานของกระบองเพชร ตัวต้นจะมีหลากหลายลักษณะตามสายพันธุ์ ต้นเป็นฟอร์ม ตอสูง กลมแตกหน่อเป็นพุ่ม หรือเป็นหัวเดียว มีทั้งมีหนาม และไม่มีหนาม ลักษณะของหนาม มีทั้งเป็นหนามแข็งแหลม คม และขนหนามแบบอ่อนนุ่ม ลักษณะของราก ทั้งที่รากเป็นฝอย หรือมีลักษณะเป็นโขด

มีดอกเพื่อใช้ในการสืบพันธุ์ แต่ละสกุลจะให้ดอกยากง่ายแตกต่างกัน สีของดอกมีทั้ง ขาว ชมพู แดง ส้ม เหลือง ม่วง แล้วแต่สกุล ส่วนใหญ่ดอกบานในตอนกลางวัน ช่วงเที่ยง-บ่าย และหุบในตอนกลางคืน และมีบางสกุลดอกบานในตอนกลางคืน และโรยในตอนเที่ยง

การขยายพันธุ์ คือ การผสมเกสรจนติดฝัก และนำไปเพาะเมล็ด แต่จะมีบางสกุล ที่สามารถชำหน่อได้

อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้ควบคู่ไปกับการเลี้ยงคือ โรค และอาการป่วย โดยหลักๆ โรคและอาการป่วยของกระบองเพชรนั้น เกิดได้จาก 2 ปัจจัยคือ สภาพแวดล้อม และแมลง ศัตรูพืช ที่พบบ่อย อาทิเช่น ไร, เพลี้ย, รา ในการรักษาก็มีหลายวิธี โดยจะมีตัวยาที่เป็นสารเคมี หรือจุลินทรีย์ที่นำมาใช้แตกต่างกันไป

ลิงค์ที่เกี่ยวข้องกับบทความ

• วัสดุที่นิยมใช้ปลูกกระบองเพชร >> คลิก <<

• การรดน้ำ ให้น้ำ กระบองเพชร >> คลิก <<

• แสงแดด สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเลี้ยงกระบองเพชร >> คลิก <<

วิธีการปลูกต้นอ่อนกระบองเพชร และการดูแล หลังจากแยกมาจากการเพาะเมล็ด


การปลูกต้นอ่อนกระบองเพชร

ดิน และวัสดุปลูก ใช้แบบเดียวกับการปลูกปกติ กระถางที่เลือกใช้ไม่ควรใหญ่ และลึกเกินไป เพราะจะยิ่งเป็นการสะสมความชื้นในดินเยอะมากเกิน การปลูกในกระถาง ควรรวมกันก่อน เพื่อประหยัดพื้นที่ และอีกหนึ่งสาเหตุ ต้นอ่อนกระบองเพชรนั้น จะมีรากที่อ่อน เล็ก ดูดซึมความชื้นได้น้อย หากดินชื้นมากจะทำให้ต้นอ่อนเน่าได้ง่าย การปลูกรวมกันจึงเป็นการช่วยควบคุมความชืนในดินไม่ให้มีมากเกินไป


วัสดุที่ใช้โรยหน้า ควรระบายความชื้นได้ดี หากเป็นหินกรวด ก็ควรเป็นเป็นกรวดเบอร์ไม่เล็กมาก เพราะหินเบอร์เล็ก ละเอียด จะทำให้ดินเก็บควมชื้นมาก หากดินชื้น เมื่อต้นอ่อนโดนแดดหินที่อบและร้อน อาจจะทำให้เกิดอาการเน่าบริเวณโคนต้นได้ หากใช้เป็นจำพวกดินญี่ปุ่น หินลาวา หินภูเขาไฟ จะระบายความชื้นได้ดีกว่า และสังเกตความชื้นในดินได้ง่าย เวลารดน้ำ


การดูแลต้นอ่อนกระบองเพชร

ในช่วงที่ย้ายจากการเพาะมาลงปลูกใหม่ๆ ควรเลี้ยงในที่แดดร่ำไร จนกว่าจะสังเกตเห็นว่า รากเริ่มเดินดี ( ดูได้จากรากที่ยึดกับดิน หรือยอดเดิน ) จึงค่อยๆ นำมาเลี้ยงในแดดที่เข้มข้นขึ้น โดยสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงต้นอ่อนนั้น ควรจะมีการปรับแสงให้ลดลง พรางแสง มากกว่าการเลี้ยงโดยปกติ ที่ใช้เลี้ยง 10-20 % โดยประมาณ

ด้วยต้นอ่อนมีรากอ่อน เล็ก สั้น ดูดซึมอาหารได้ไม่มาก และลำต้นที่เล็กการกักเก็บอาหารในตัวยังมีน้อย ในช่วงแรกการรดน้ำจึงจะใช้เป็นการหมั่นโชยน้ำอยู่บ่อยๆ 2-3 วันครั้ง รดไม่ต้องชุ่มมาก เพื่อป้องกันไม่ให้ดินมีความชื้นมากไป เมื่อต้นอ่อนเริ่มแข็งแรงต้นโตขึ้น จึงค่อยปรับแสงแดดในการเลี้ยงให้เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และเพิ่มปริมาณน้ำที่ใช้รดให้มากขึ้น

คำถามที่พบบ่อยในการเพาะเมล็ด ต้นอ่อน กระบองเพชร (แคคตัส) แบบปิด


เพาะเมล็ดไปแล้วต้องรดน้ำอีกหรือไม่??

หากเป็นการเพาะแบบปิด จะไม่ต้องรด หรือให้น้ำหลังจากการเพาะครั้งแรกอีกเลย เว้นแต่ในกรณีที่น้ำระเหยออกมาเยอะจนดินแห้ง สามารถใช้สเปรย์พ่นน้ำเพิ่มได้และรีบปิดภาชนะเพาะโดยเร็ว

ทำไมต้นอ่อนกระบองเพชรโตช้า??

หากตอนโรย หรือหว่านเมล็ดนั้นมีความหนาแน่นกันจนเกินไป เมื่อต้นอ่อนโตขึ้นจนเริ่มเบียดกันจะเริ่มแย่งอาหารทำให้ต้นอ่อน โตช้า วิธีแก้หากต้นเริ่มมีการเบียดกันมากเกินไป ให้แยกต้นที่โตพอปลูกได้แยกออกมาปลูกก่อน และต้นที่ยังเล็กไม่สมบูรณ์เลี้ยงไว้ในกล่องต่อไป ฉะนั้นตอนโรยเมล็ดควรเว้นระยะห่างให้พอเหมาะ การกะระยะแบบคร่าวๆ โดยใช้นิ้วก้อยเราแทนต้นอ่อน แล้วเว้นระยะให้เหมาะสม

ทำไมเมล็ดงอกช้า ไม่ค่อยงอก งอกน้อย??

เมล็ดงอกช้า เกิดจาก 2 สาเหตุหลักๆ ที่พบบ่อยคือ ความสมบูรณ์ของเมล็ด และระยะเวลาที่เกิดเมล็ดไว้ หากเมล็ดเก็บไว้นานมาก อัตราการงอกก็อาจจะลดลงได้ อีกหนึ่งสาเหตุคือ การได้รับแสงไม่เพียงพอ ต่อการงอก ซึ่งจะส่งผลให้ต้นอ่อนโตช้าลงอีกด้วย

ต้นอ่อนยืดยาวเป็นถั่วงอก??

หากได้รับแสงแดดน้้อยจะทำให้ต้นอ่อน ยึดตัวขึ้นหาแสง จนต้นเสียฟอร์ม วิธีแก้ ค่อยปรับ หรือเปลี่ยน สถานที่เพาะ ให้เขาค่อยได้รับแดดเพิ่มขึ้น หากเปลี่ยนไปเลี้บงแดดที่แรงขึ้นกระทันหัน อาจจะทำให้ต้นอ่อนปรับตัวไม่ทัน จนไหม้ ฝ่อ ยุบตัวลงได้

จะรู้ได้อย่างไร ว่าความชื้นในกล่อง พอเหมาะพอดี กับต้นอ่อน??

ให้สังเกตจากไอน้ำที่ระเหยมาเกาะอยู่ในกล่อง หรือภาชนะที่เราใช้เพาะ การควบแน่นจะทำให้เกิดเป็นเม็ดไอน้ำที่เกาะอยู่ หากไม่มีไอน้ำเกาะเลย ความชื้นในดินนั้นอาจจะน้อยเกินไป แต่ถ้าหากเม็ดไอน้ำมีขนาดใหญ่ และเยอะมาก หรือเกิดมีตะไคร่มาก นั้นอาจจะเป็นเพราะความชื้้นเยอะ และโดนแดดแรงเกินไป

ทำไมในกระถางเพาะมีตะไคร่เยอะ ต้องทำอย่างไร??

ถ้าหากพบว่าในภาชนะที่เราใช้ในการเพาะมีตะไคร่มากเกิน อาจเป็นได้จากความชื้นในกล่องมีปริมาณมากเกิน ตำแหน่งที่วางนั้น มีแสงแดดแรงเกินไป ควรย้าย หรือกางสแลนช่วยพรางแสง ส่วนตะไคร่นั้นให้ใช้้แหนบเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอลฮอล์แล้วคีบเอาตะไคร่ออก และปิดภาชนะเพาะตามเดิม อย่างรวดเร็ว และควรทำในช่วงที่อากาศไม่ร้อนจัด เพราะถ้าหากปล่อยให้ตะไคร่มีีปริมาณเยอะมากนั้นอาจจะทำให้ต้นอ่อนของเราโดนแย่งอาหารและตายได้

แมลงตัวเล็กๆ ขาวๆ กระโดดได้ เดินเร็วๆ เป็นอันตรายต่อต้นอ่อนหรือไม่??

แมลงเหล่านี้มาจากไข่ที่ทิ้งไว้อยู่พีทมอส เมื่อมีความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมก็ฝักตัวออกมา ซึ่งไม่ส่งผลเสียต่อต้นอ่อนกระบองเพชรแต่อย่างใด

แล้วเราจะเอาต้นอ่อนออกมาปลูกตามปกติได้เมื่อไหร่??

เมื่อเพาะได้ระยะเวลา 4 – 6 เดือน หรือเมื่อหัวยอดต้นอ่อนขนาดประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ( ซึ่งบางสายพันธุ์ ที่เป็นไม้ทรงยาว ไม้ตอ สามารถแยกได้ ตั้งแต่ต้นอ่อนมี ขนาด 0.5 เซนติเมตร โดยจะดูความสมบูรณ์ของต้นอ่อนเป็นหลัก )

เพาะเมล็ด กระบองเพชร (แคคตัส) จะต้องทำอย่างไรต่อ? ควรแยกมาปลูกเมื่อไหร่?


เมื่อเพาะเมล็ดได้ระยะเวลาประมาณ 4 – 6 เดือน หรือเมื่อต้นอ่อนขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร ( ซึ่งบางสายพันธุ์สามารถแยกได้ ตั้งแต่ต้นอ่อนมี ขนาด 0.5 เซนติเมตร โดยจะดูความสมบูรณ์ของต้นอ่อนเป็นหลัก )

หากเป็นการเพาะเมล็ดแบบปิด ก่อนที่จะนำออกมาปลูก 1-2 อาทิตย์ค่อยๆ แง้มฝากล่อง ภาชนะ หรือถุง ที่ใส่ในการเพาะทีละนิด เพื่อให้ต้นอ่อนได้มีการปรับตัวกับสภาพอากาศภายนอก ที่อุณหภูมิจะแตกต่างกันมาก

เมื่อต้นอ่อนได้ปรับสภาพแล้ว ก็สามารถนำลงปลูกในดินปลูกปกติได้เลย โดยไม่ต้องตัดแต่งราก โดยการปลูกนั้น แนะนำให้เป็นการปลูกในกระถางรวมกันก่อน เพื่อประหยัดพื้นที่ และอีกหนึ่งสาเหตุ ต้นอ่อนกระบองเพชรนั้น จะมีรากที่อ่อน เล็ก ดูดซึมความชื้นได้น้อย หากดินชื้นมากจะทำให้ต้นอ่อนเน่าได้ง่าย การปลูกรวมกันจึงเป็นการช่วยควบคุมความชืนในดินไม่่ให้มีมากเกินไป


คำถามที่พบบ่อย ??

ถ้าหากเรายังไม่มีเวลาแยกมาปลูกลงดิน จะส่งผลเสียอะไรกับต้นอ่อนหรือไม่?

ต้นอ่อนสามารถอยู่ในกล่อง หรือกระถางเพาะต่อได้อยู่ โดยเลี้ยงต่อแบบเปิดฝากล่อง หรือนำเอาออกมาจาก กล่อง ภาชนะ ถุง ที่เราใส่อบไว้ แล้วให้น้ำโดยการโชยน้ำอยู่เรื่อยๆ เมื่อดินแห้ง ซึ่งเขาสามารถโตต่อได้

แต่การเจริญเติบโต อาจจะเริ่มช้าลง เพราะสารอาหารที่อยู่ในดินเพาะจะเริ่มหมด หรือเมื่อต้นโตมากขึ้นเรื่อยๆ จนเบียดกัน เกิดการแย่งอาหาร ส่งผลให้ต้นที่เล็กกว่่า อาจจะถูกแย่งอาหารจนแคระแกร็น หรือฝ่อตายได้

วัสดุที่ใช้ปลูก ไม้อวบน้ำ กระบองเพชร (แคคตัส) มีอะไรบ้าง ใช้ทำอะไรบ้าง??


วัสดุเหล่านี้ใช้ได้กับต้นไม้ทุกประเภท ไม้อวบน้ำ กระบองเพชร กุหลาบหิน ไลทอป ฮาโวเทีย อากาเว่ บอนไซ พืชไร้ดิน ไม้โขด ไม้ฟอกอากาศ ไม้ดอก ไม้ประดับ พืชสวนครัว ผักออแกนิค
โดยปรับใช้วัสดุให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการปลูก กับสายพันธุ์แต่ละประเภทที่ต้องการความชื้น หรือ ลักษณะเนื้อดินที่ต่างกัน

soil_16_9

หากปลูกน้อย หรือไม่ต้องการผสมเอง การใช้ ดินปลูกสำเร็จรูป ที่ผสมพร้อมปลูกแทนก็จะช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น โดยดินที่เหมาะสม ควรมีลักษณะดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี เก็บความชื้นพอเหมาะกับต้นไม้ หากมีอินทรีย์วัตถุ ควรผ่านการหมัก หรือพักดินให้ได้อุณหภูมิเหมาะสมก่อนนำใช้ เพื่อป้องกันกระบวนการย่อยสลายที่ยังไม่สมบูรณ์ และทำให้เกิดความร้อนในดินจากกระบวนการย่อยของจุลินทรีย์ จนอาจจะเป็นสาเหตุให้รากไม่เดินได้

ปุ๋ยบำรุง

ใช้ผสมดินปลูก บำรุงหลังจากปลูก ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งแบบอินทรีย์ และเคมี แต่การใช้ปุ๋ยเคมีไปนานๆ โดยไม่ได้มีการเติมปุ๋ยอินทรีย์ลงไปในเพิ่มเลย อาจจะทำให้เกิดสภาวะความเป็น กรด-ด่าง ในดินไม่เหมาะสม จนทำให้ดินเสื่อมสภาพได้ง่าย

ปุ๋ยอินทรีย์ ควรเป็นปุ๋ยที่ผ่านกระบวนการพักตามธรรมชาติ หรือหมักจน ไม่มีก๊าซ แก๊ส กระบวนการย่อยสลายสมบูรณ์ อุณหภูมิไม่สูง เหมาะนำมาใช้ในการปลูก ซึ่งอาจจะได้จากสัตว์ หรือ การหมักจากพืช เช่น มูลค้างคาว (มูลเก่า) มูลไส้เดือน น้ำหมักจากพืชต่างๆ ปุ๋ยพืชหมัก ที่ต้องมีข้อระวังในการใช้คือ หากการหมัก หรือพัก ยังไม่สมบูรณ์จะทำให้เกิดความร้อนสูง อาจะทำให้ต้นมีอาการากกุดได้

ปุ๋ยเคมีชนิดเม็ด นิยมใช้เป็นสูตรเสมอ 13-13-13 หรือ 16-16-16 เป็นสูตรบำรุงครบ ซึ่งมีหลากหลายแบรนด์ให้เลือกใช้

พีทมอส ( Peatmoss )

ใช้ในการเพาะเมล็ด หรือนำมาผสมเป็นเนื้อดิน ด้วยพีทมอส เป็นวัสดุปลูกที่สะอาด ปลอดโรค ( อนุญาตให้ใช้เป็นวัสดุที่สามารถส่งข้ามประเทศได้ ) พีทมอสเกิดจากการย่อยสลายโดยสมบูรณ์จากซากพืช จำพวกมอส ซากสัตว์ที่ที่ทับถมกันมานานหลายร้อยปี

เป็นวัสดุปลูกพืชที่สะอาด ปราศจาก แมลง เชื้อโรค เชื้อรา แบคทีเรีย เป็นอินทรียวัตถุจากธรรมชาติ ลักษณะของพีทมอสมีโครงสร้างโปร่ง ช่องว่างอากาศสูง สามารถเก็บความชื้นได้ดี สามารถอุ้มน้ำได้ดี โดยพีทมอสส่วนใหญ่จะเป็นสินค้านำเข้าโดยมีแหล่งนำเข้ามาจากหลายประเทศ ผ่านตัวแทนนำเข้าของไทย

หินภูเขาไฟ ( Pumice )

ใช้เป็นส่วนผสมดิน และรองก้นกระถาง มีหลายขนาดของเม็ดให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม อุดมไปด้วยธาตุ อะลูมิเนียม แคลเซียม เหล็ก และแมกนีเซียม ซึ่งธาตุเหล่านี้ ช่วยในการดูดซับฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ช่วยเก็บกักธาตุอาหารพืช เพิ่มอากาศในดิน ไม่เกิดการอับชื้น อากาศในดินถ่ายเทได้ดี ช่วยควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกินไปและ ป้องกันไม่ให้ดินจับตัวเป็นก้อน โดยส่วนใหญ่จะเป็นสินค้านำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย

649497949.jpg
เพอร์ไลท์ ( perlite )

ใช้ผสมดินปลูก ช่วยรักษาความสมดุล ระหว่างปริมาณน้ำและอากาศในดิน รักษาสภาพดินไม่ให้ชื้น หรือแห้งจนเกินไป และยังเป็นตัวช่วยดูดซึม สะสม ปุ๋ย หรือเคมีต่างๆ ที่เติมลงไปในดินไม่ให้ซึมหายออกไปจากดินเร็วเกินไป อีกทั้งยังช่วยลดความเข้มข้นของ ปุ๋ย หรือเคมีที่เติมลงไปในดินได้อีกด้วย

เวอร์มิคูไลท์ ( Vermiculite )

ใช้ผสมดินปลูก อุดมไปด้วย ธาตุอาหาร โพแทสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียม ที่มีความจำเป็นกับพืช ช่วยเก็บกักความชื้นแบบพอเหมาะ และค่อยๆ ปล่อยอย่างช้าๆ ช่วยคุมอุณหภูมิในดินได้เป็นอย่างดี เป็นสินค้าที่มีการนำเข้าและผลิตในประเทศ สินค้ามีให้เลือกหลายเกรดตามที่ผู้นำเข้ามาจัดจำหน่าย

ดิน akadama โรยหน้ากระถาง ดินญี่ปุ่น
ดินญี่ปุ่น อคาดามะ ( Akadama soil )

ใช้ผสมดินปลูก โรยหน้ากระถาง ดินญี่ปุ่นมีค่า pH ที่เป็นกลาง และธาตุอาหาร จึงสามารถใช้เป็นส่วนผสมดินปลูก ปลูกต้นไม้ ผสมดินไลทอป หรือจะใช้ล่อรากแคคตัส (กระบองเพชร) ได้อีกด้วย สินค้าส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น

ข้อดีของดินญี่ปุ่น อคาดามะ (AKADAMA SOIL) ในการใช้แทนหินโรยหน้ากระถางแคคตัส หรือกระบองเพชร
• เนื้อดินไม่แข็งจนเกินไป ทำให้ไม่เบียดโคนไม้ ใส่ได้ตั้งแต่ไม้เล็กจนถึงไม้โต ทำให้โคนไม้สวย
• สีของดินทำให้เราสังเกตความชื้นของดินได้ง่าย สะดวกในการสังเกตการให้น้ำ หรือความชื้นในดิน
• ดินญี่ปุ่นนั้นมีความโปร่ง จึงช่วยระบายความอับชื้นในดินได้ดี
• มีธาตุอาหาร จึงเป็นการช่วยบำรุงต้นไม้

เม็ดดินเผา มวลเบา ( เม็ดป๊อบเปอร์ Popper )

ใช้ผสมดินปลูก ล่อรากต้นไม้ ปลูกต้นไม้ มีทั้งที่เป็นสีน้ำตาล และสีดำ เป็นวัสดุปลูกที่ปราศจากเชื้อโรค ปลอดจากโรคในดิน เพราะผ่านการเผาในอุณหภูมิสูง มีค่า pH เป็นกลาง สามารถใช้เป็น วัสดุปลูกต้นไม้ แทนดินปลูกต้นไม้ได้เลย เมื่อนำไปผสมดินปลูกจะเป็นตัวช่วยเพิ่มการกักเก็บความชื้น สำหรับพืชที่ต้องการความชื้นสูง โดยทำให้ดินโปร่งไม่จับตัวเป็นก้อน หรือสามารถใช้ขนาดเม็ดใหญ่ รองก้นกระถาง เม็ดดินเผาเป็นวัสดุที่คงทนแข็งแรง จึงสามารถเก็บไว้ใช้ได้หลายครั้ง เพียงแค่ล้างผึ่งให้แห้งก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ขุยมะพร้าวป่น ( coconut coir )

ใช้ผสมดินปลูก เป็นอาหารของพืช โดยการย่อยสลายตัวอย่างช้าๆ ซึ่งขุยมะพร้าวที่จะนำมาใช้นั้นควรผ่านกระบวนการล้าง และหมัก เพื่อลดสาร แทนนิน ( Tannin ) ที่อยู่ในขุยมะพร้าวก่อน สารแทนนินนี้จะทำให้เกิดอาการรากชะงัก หรือต้นเหลืองในพืชได้

ขุยมะพร้าวที่ผ่านกระบวนการหมักและล้าง จนมีค่า pH ที่เหมาะสมแล้ว จะสามารถนำมาใช้งานได้เลย เรียกว่า Coco Peat ซึ่งมีลักษณะ มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับพีมมอส แต่การย่อยสะลาย หรือยุบตัวจะช้ากว่า อุ้มน้ำน้อยกว่า การนำขุยมะพร้าว มาใช้ควรเลือกใช้ให้เหมาะกับชนิดของไม้อวบน้ำ เพราะมีไม้อวบน้ำบางประเภทที่ไม่เหมาะกับการใช้ขุยมะพร้าว เช่น ไลทอป

แกลบดำ แกลบเผา ( chaff charcoal )

ใช้ผสมดินปลูก เป็นอาหารของพืช โดยการย่อยสลายตัวอย่างช้าๆ ช่วยเพิ่มความร่วนซุยในเนื้อดิน ลดการจับตัวของดิน มีความพรุนละเอียดสูง เพิ่มการหมุนเวียนอากาศในดิน ลดอุณหภูมิในดิน หากใช้ในปริมาณที่พอดีเหมาะสม ช่วยทำให้เก็บความชื้นพอเหมาะ ในแกลบดำอุดมไปด้วย ซิลิก้า ( SiO₂ ) ฟอสฟอรัส ( Phosphorus ) และโปรแทสเซียม ( Potassium )

ทรายหยาบ กรวดแม่น้ำละเอียด

ใช้ผสมดินปลูก เพื่อเพิ่มการยึดเกาะของราก และเพิ่มความร่วนซุยในดิน ลดการขังตัวของน้ำ เมื่อวัสดุปลูกเริ่มย่อยสลาย หรือยุบตัว โดยการจะเลือกนำมาใช้ ควรเป็นเนื้อกรวดแม่น้ำเบอร์เล็กที่มีขนาดเหมาะสม หากนำทรายละเอียดที่มีขนาดป่นมากเกินไป เมื่อวัสดุปลูกย่อยสลายหรือยุบตัว จะกลายเป็นอุ้มน้ำมาก และทำให้ดินแฉะแทน

จัดมุม กระบองเพชร ไม้อวบน้ำ Succulent Corner สร้างความสดชื่นให้กับบ้าน หรือมุมนั่งทำงาน


Succulent Corner 🌵 สร้างความสดชื่นให้กับบ้านหรือ มุมที่ต้องนั่งทำงาน ด้วยต้นกระบองเพชร ไม้อวบน้ำ ไม้ฟอกอากาศ
– หากใครมีต้นอยู่แล้วก็เอามาวางประดับกับของแต่งบ้านต่างๆ หรือ ไม้ประเภทอื่นๆ แต่ถ้าหากพื้นน้อย ก็อาจจะใช้การติดตั้งชั้นที่ผนังเพื่อวาง

คำแนะนำ หากมีหลายต้นอาจจะใช้สลับกันวางตากแดดบ้าง เพื่อให้ต้นไม้ไม่ขาดแสงแดด

—- 🧐 ควรต้องเลือกดูสายพันธุ์ที่เหมาะกับการเลี้ยงในที่ที่มีแสงแดดน้อยได้ เช่น ยิมโน อิชินอป ฮาโวเทีย

—- ☑️ดินที่เลือกใช้ควรเป็นดินปลูก ที่โปร่งและเหมาะสม หรือดินปลูกไม้อวบน้ำโดยเฉพาะ

—- ☀️ แสงแดดนั้นจำเป็นมากับพืชตระกูลนี้ ควรต้องให้ได้รับแสงแดดที่พอเพียง เพื่อไม่ให้ต้นเสียฟอร์ม หรือเกิดการเน่าในดินเพราะความชื้นที่เยอะเกินไป

—- 💦 การรดน้ำควรรดเมื่อดินแห้ง เพราะไม้อวบน้ำนั้น เป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำบ่อย เขาจะเก็บกักน้ำไว้ในตัวเองได้เยอะ ฉะนั้นจึงไม่ต้องรดน้ำบ่อย

การเลี้ยงดู เปลี่ยนกระถางและรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติม >> คลิก <<

ขอบคุณภาพไอเดียดีๆ : pinterest
รวบรวมเรียบเรียงโดย mini3garden

ไอเดีย ชั้นวางกระบองเพชร ไม้อวบน้ำ แบบเก๋ๆ สำหรับคนที่พี้นที่มีน้อย ต้องใช้สอยประหยัด


ไอเดีย ชั้นวางกระบองเพชร 🌵 ไม้อวบน้ำ แบบเก๋ๆ สำหรับคนที่พี้นที่มีน้อย ต้องใช้สอยประหยัด มาฝากกันค่ะ เหมาะกับคนที่อยู่คอนโด หอ หรือมีพื้นที่จำกัด แต่อยากจะมีมุมเขียวๆ มุมเล็กๆ ไว้ให้ดูสดชื่น

มีทั้งที่เป็นงานแบบ DIY เป็นการประยุกต์ของมาใช้ แบบงบน้อย หรือจะซื้อสำเร็จมาตั้ง

ส่วนตำแหน่งการวางนั้นควรจะเป็นที่ ที่มีแสงแดดส่องถึงได้ และถ้าหากตรงที่วางนั้นได้รับแสงไม่เพียงพอ ควรนำต้นเขาออกมารับแสงบ้าง เพื่อป้องกันการเน่า หรืออับชื้นในดิน และต้นเสียฟอร์ม วัสดุที่จะนำมาเป็นพื้นวางควรกันนำและกันชื้นได้ดี
.

ขอบคุณภาพไอเดียเก๋ๆ : Pinterest
รวบรวมและเรียบเรียงโดย
::: www.mini3garden.com :::

แบบโรงเรือนขนาดเล็ก ข้างบ้าน ใช้พื้นที่น้อย ทำง่าย ประหยัดงบ


สำหรับคนที่พื้นที่น้อย แบบโรงเรือนเล็ก ข้างบ้าน น่าจะช่วยตอบโจทย์ได้ ซึ่งทำได้หลายหลายรูปแบบตามงบประมาณและสถานที่ เป็นไอเดียให้กับคนที่กำลังมองหาแบบ บ้านหลังน้อยให้ต้นไม้สุดที่รักกัน
.
และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการทำมีอะไรบ้าง
🔺 วัสดุ ความแข็งแรงคงทน นั้นมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ นะคะ ถ้าหากไม่อยากพบปัญหาเรื่องลมฝนทำพังในอนาคต
🔺 ทิศทางของแสง ที่ต้นจะต้องได้รับ หากแสงน้อยต้นอาจจะยืดและเสียฟอร์มได้ ระยะห่างแต่ละชั้น ควรมีที่ให้แสงให้พอส่องถึงเข้าไปด้านในสุดได้
🔺 วัสดุที่จะเลือกใช้ควรกันน้ำ และทนฝนได้

ใช้แผ่นใส เป็นตัวช่วยป้องกันน้ำฝน ซึ่งมีน้ำหนักเบา และหาซื้อได้ง่าย
ประหยัดงบด้วยการใช้แผ่นพลาสติกผ้าใบ แบบใส
ใชหลังคาลอนใสเล็กมาทำเป็นตัวช่วยป้องกันน้ำ
แบบประหยัดงบสุด โดยไม่ต้องจ้างช่างสามารถทำได้ด้วยตัวเอง

ขอบคุณภาพ : Pinterest
รวบรวมและเรียบเรียง : mini3garden.com