ไม้อวบน้ำ ฮาโวเทีย ( Haworthia) การเลี้ยง และดูแล


ฮาโวเทีย ไม้อวบน้ำ วงศ์เดียว กับว่านหางจระเข้ ทำให้ลักษณะกายภาพบางอย่างจึงดูคล้ายกัน เป็นไม้อวบน้ำที่มีลักษณะสวยงาม ยิ่งเมื่อใบได้สะท้อนกับแสง จะคล้ายกับ แก้วที่ส่องประกายแวววาว

ลักษณะของต้น

ฮาโวเทีย มีทั้งที่เป็นใบใส และใบแข็ง ใบเป็นสีเขียว และมีที่ใบด่าง ลักษณะใบมีหลากหลายลักษณะ กลม เรียวยาว ปลายแหลม ปลายตัด เนื้อใบด้านในจะมีวุ้น และมีส่วนที่ใส ไว้รับแสง หรือเรียกว่า “เลนส์ใบ” ต้นจะกางออกเป็นช่อ มีลักษณะเป็นพุ่ม และทรงพัด สายพันธุ์มีที่เป็น ธรรมชาติ และที่ได้ผ่านการพัฒนามาจนเกิดเป็นหน้าตาแปลกใหม่ ที่เป็นลูกผสม (ไฮปริด) มากมาย รากจะเป็นรากที่ไม่แข็ง เปราะหักง่าย ลักษณะคล้ายรากของบัว

ลักษณะของดอก

ฮาโวเทียจะมีก้านดอกที่ยาวชูช่อ ดอกเรียงกันไปตามก้านดอก ดอกสามารถผสมเกสรได้

การขยายพันธุ์

สามารถเพาะเมล็ด, ชำหน่อ, วางใบ แต่วิธีที่นิยมใช้ คือการชำหน่อ ที่จะทำได้ง่าย และการดูแลไม่ยุ่งยาก หน่อมีทั้งที่เป็นหน่อที่แตกมาจากรากของต้น และหน่อที่ได้มาจากที่เราปาดยอด การปาดยอด หรือเรียกได้อีกอย่างว่า “ยกยอด” ทำให้เกิดหน่อใหม่ขึ้นมาแทน ยอดเดิม ซึ่งอาจจะมีโอกาสมีหน่อเพิ่มขึ้นมามากกว่า 1 หน่อ

ในการชำหน่อ สามารถชำในดินปลูกได้ แต่รากอาจจะมาช้ากว่า และค่อนข้างเสี่ยงที่โคนราก จะเน่า หรือฝ่อ ก่อนที่รากจะมา ทำให้การล่อราก ส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัสดุที่ควบคุมความชื้นได้ง่าย ในการล่อรากก่อนนำมาปลูกลงดิน วัสดุที่ใช้ก็หลากหลายแล้วแต่ความเชี่ยวชาญ และถนัดของแต่ละบุคคล ที่นิยมใช้ก็มี หินภูเขาไฟ, ดินคานูมะ, ดินอคาดามะ, สแฟกนั่มมอส, เม็ดดินเผา ซึ่งในช่วงที่ล่อรากนั้น การรักษาความชื้นในสม่ำเสมอสำคัญมาก วัสดุล่อรากควรจะต้องมีความชื้นที่เหมาะสม แต่ไม่แฉะหรือ ขังน้ำ

สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

ฮาโวเทีย เป็นไม้อวบน้ำที่ไม่ ชอบแดดจัด เหมือนกระบองเพชร ในธรรมชาติจะซ่อนตัวอยู่ใต้ต้นไม้ หรือ ซอกโขดหิน จะมีชนิดใบแข็งที่สามารถ อยู่กลางแดดจัดได้ ต้องการแสงแดดทั้งวัน เป็นการพรางแสง แดดประมาณ 50-70% สามารถเลีัยงใต้ชายคาบ้านที่มีแสงส่องถึงได้ แต่ต้องคอยหมุนต้น, กระถาง หาแสง เพื่อให้ต้นได้รับแสงรอบด้าน หากได้รับแดดด้านเดียว อาจทำให้ต้นโตผิดฟอร์ม ใบไม่เท่ากัน

สิ่งสำคัญในเลี้ยงคือ ไม่ชอบอากาศร้อน และอบ จึงไม่ค่อยเหมาะกับการเลี้ยงโรงเรือนปิด ชอบอากาศเย็น มีลมพัดผ่าน อากาศถ่ายเทดี ฮาโวเทียจึงชอบช่วงฤดูหนาว ที่มีความชื้นบางๆ อากาศเย็นๆ ใบจะเป่งอวบอิ่ม และใสมาก

ช่วงอันตรายคือ ฤดูร้อน ที่อาจจะทำให้ใบไหม้ ต้นเหี่ยว หรือทิ้งราก จนทำให้ต้นดูโทรมไม่สดใส ใบไม่เขียว ต้นลีบ ใบอาจจะกลายเป็นสีอมม่วงแทน วิธีแก้คือ ในฤดูร้อนควรจะโชยน้ำบางๆ ในช่วงเย็น เพื่อช่วยระบายความร้อนจากดิน และต้น

วีดีโอการโชยน้ำ ต้องทำยังไง >> คลิก <<


ดินที่ใช้ปลูกควรเป็นดินที่โปร่ง เนื้อดินไม่จับตัว ไม่อุ้มน้ำจนแฉะ แต่ควรเก็บความเก็บความชื้นได้ดี เพราะจะทำให้รากเน่าได้ง่าย สามารถใช้ดินปลูกกระบองเพชร หรือดินปลูกไม้อวบน้ำปลูกได้ ลักษณะของดินไม่ควรมีส่วนผสมของทรายละเอียดมาก เพราะเมื่อปลูกไปสักระยะเนื้อดินหมด หรือยุบตัว ทรายจะไหลไปกองรวมกันจับตัวให้เกิดการแฉะก้นกระถาง วัสดุที่ใช้โรยหน้ากระถาง ควรระบายความชื้นได้ดี เพื่อป้องกัน การเน่าโคนต้น เน่าคอดิน

รดน้ำมือดินแห้งเป็นหลัก ไม่ควรใช้การนับวัน เพราะในแต่ละฤดูดินแห้ง ช้าเร็วต่างกัน หากใช้ ดินญี่ปุ่นอคาดมะ หรือหินลาวาดำ โรยหน้ากระถาง ก็จะทำให้สังเกตความชื้นได้ง่ายด้วย โดยสังเกตว่าดินญี่ปุ่นแห้งแล้ว เว้นสัก 1-2 วันก็รดน้ำได้เลย และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกประการคือ อย่าให้ขาดน้ำนานเกินไป เพราะต้นจะทิ้งราก สรุปคือ การให้น้ำของฮาโวเทีย ค่อนข้างสำคัญต่อต้นมาก รดมากไป เน่า ใบปริแตก รดน้อยไป ใบแห้ง ต้นทิ้งราก

และการฟื้นฟูต้นให้กลับมาแข็งแรง สดใส ใหม่อีกครั้งสำหรับฮาโวเทียนั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน กว่าไม้อวบน้ำประเภทอื่นๆ บางทีอาจจะต้องใช้ระยะเวลา 4-8 เดือน หรือมากกว่านั้น กว่าต้นจะกลับมาสวยใสดังเดิม ฮาโวเทีย จึงจะต้องใช้เวลาใส่ใจมากกว่า ไม้อวบน้ำประเภทกระบองเพชร หากต้องการให้ต้นสวย ใส อวบอิ่มตลอด

โรค และศัตรูพืชที่พบบ่อย

เพลี้ย, ไรแดง, โรครากเน่า, อาการทิ้งราก, ใบช้ำ

ขอบคุณวีดีโอ : Youtube Chanel / Aj’s Cacti

ไม้อวบน้ำ สายพันธุ์ กุหลาบหิน ( Succulent ) การเลี้ยง และดูแล


ลักษณะของต้น

กุหลาบหิน ลักษณะของต้น จะคล้ายดอกไม้ มีทั้งเป็น ทรงกลม หรือเป็นพวงช่อยาว สีสันของต้น มีหลายเฉดสี ไม่ว่าจะออกเป็น เขียวอมฟ้า เขียวอมชมพู เขียวอมม่วง บนผิวใบจะมีลักษณะเป็น แป้งนวลสีขาว หรือเป็นที่เรียกกันว่า Wax เคลือบผิวใบ ที่เกิดจาการต้นสร้างขึ้นมาเอง เพื่อช่วยในการปกป้องผิวใบจากแสงแดด

ลักษณะของรูปทรงใบ มีแตกต่างไปตามสายพันธุ์มีทั้งที่เป็น ช่อกลุ่มใบเล็กๆ ทรงพุ่ม และเป็นช่อใบใหญ่ ใบและต้นมีลักษณะ อ่อน เปราะ หักง่าย รากจะเป็นรากฝอยๆ ขนาดเล็กกระจายทั่ว เมื่อต้นแก่จะมี ลำต้นจะแข็งขึ้น, หรือมีลักษณะเป็นโขด

ลักษณะของดอก

ลักษณะของดอกจะชูขึ้นมา โดยมีก้านดอกยาว และปลายดอกเป็น ดอกเล็กเรียงกัน หรือเป็นพวงยาวตามก้านดอก โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีดอกเมื่อต้อมีอายุมาก และหลังจากออกดอกต้นจะโรย และตาย ส่วนมากถ้าต้นมีดอกจะนิยมตัดทิ้ง เพื่อรักษาต้นไว้ไม่ให้ตาย

การขยายพันธุ์

สามารถ ชำกิ่ง, วางใบ. เพาะเมล็ด, แต่วิธีที่นิยมใช้ คือ วางใบ การวางใบจะทำให้ได้ต้นใหม่ที่แข็งแรง เพราะต้องใช้ระยะเวลา ในการปลูกดูแล และเติบโตต้นจะค่อยๆ งอก แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ และปรับสภาพกับอากาศได้ดี

สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

กุหลาบหิน เป็นไม้ที่ชอบอากาศเย็น และแสงแดด ตลอดวันโดยเป็นแดด ที่พรางแสงหรือแดด 70-80 เปอร์เซ็นต์

สามารถเลี้ยงกลางแจ้งได้ ในบางชนิด แต่ต้องค่อยๆ ใช้วิธีเทรนแดด ให้เขาปรับตัวกับแดดจัด แต่ข้อเสียในการเลี้ยงกลางแจ้ง คือ ด้วยสภาพอากาศประเทศไทย เป็นร้อนชื้น สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ร้อนจัด แดดแรง หรือ ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน จะทำให้กุหลาบหิน เป็นโรคป่วยได้ง่าย

ยกเว้นในบางพื้นที่ ที่มีอากาศเย็น และฝนน้อย อย่างภาคเหนือ หรือ อีสานตอนบนของประเทศ สามารถปลูกกลางแจ้งได้ ดีกว่า ด้วยสภาพอากาศที่เหมาะสม จะทำให้ต้นแข็งแรง ได้ฟอร์มสวยมากกว่า

ซึ่งในการเทรนแดด ต้องอาศัยเวลาในการให้ไม้ค่อยๆ ปรับตัวเพื่อจะสร้างใบใหม่ที่แข็งแรง และทนกับสภาพอากาศที่เลี้ยงปัจจุบันได้ดี

กุหลาบหิน ชอบดินที่โปร่งร่วนซุย สามารถใช้ดินลักษณะเดียวกับกระบองเพชรในการปลูกได้ รดน้ำเมื่อดินแห้ง รดจนออกก้นกระถาง แล้วทิ้งช่วงจนดินแห้ง หลังจากดินแห้ง 1-2 วัน จึงรดน้ำใหม่ หากสถานที่ปลูกอากาศถ่ายเทได้ดี ต้นจะไม่เป็นคราบน้ำ แป้งนวลก็จะไม่หลุด จนทำให้ใบดูด่างเป็นจุดขาวไม่สวยง่าย ในช่วงฤดูฝนควรต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะจะเกิดอาการเน่า โรคที่เกิดจากเชื้อราแบคทีเรียได้ง่าย

หากต้องการเลี้ยงให้ได้สี และฟอร์มสวย ไม่ควรใช้ปุ๋ยที่มี ไนโตรเจนสูง เพราะจะทำให้ใบเป็นสีเขียว มากกว่าสีสันสดใส ตามลักษณะของต้น หากเลี้ยงแสงแดดเพียงพอ ของต้นจะมี Wax ขาวปกคลุมผิวใบ และต้นสีสด ฟอร์มกระชับ

โรค และศัตรูพืชที่พบบ่อย

เพลี้ย, ไรแดง, โรครากเน่า, ไหม้แดด, ใบช้ำน้ำ, เน่าคอดิน

บทความที่เกี่ยวข้อง

• การวางใบ ชำใบ เพื่อขยายพันธุ์ ไม้อวบน้ำ กุหลาบหิน ซัคคิวเลนท์ ( SUCCULENT ) >> คลิก <<

กระบองเพชร สกุล แอสโตรไฟตัม (Astrophytum) การเลี้ยง และดูแล


กระบองเพชร (แคคตัส) สกุล แอสโตรไฟตัม ( Astrophytum ) เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์กระบองเพชรที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย และมีการพัฒนาสายพันธุ์ อยู่เรื่อยๆ จนทำให้มีทรง และลวดลายแปลกตามากขึ้น

ลักษณะของต้น

ลักษณะที่โดดเด่นของต้นคือ ผิวสีเขียวเข้มสด ตัดกับลายบนต้นที่เป็นสีขาว ลวดลายมากมายแปลกตา ตามที่ได้พัฒนา และผสมพันธุ์ มีดอทปุย เป็นตุ่มขนขึ้นบนผิวต้น มีชนิดที่มีหนามและไม่มีหนาม แต่ที่นิยมและมีผู้เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์กันมากจะเป็นชนิดที่ไม่มีหนามอย่าง แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส ( A.asterias ) , แอสโตรไฟตัม ไมริโอสตริกมา ( A.myriostigma )



แอสโตรไฟตัม แอสทีเรียส มีการพัฒนาสายพันธุ์จากญี่ปุ่น จนทำให้เกิดลวดลายบนต้นที่แตกต่าง แตกย่อยอีกมากมาย โดยจะมีชื่อเรียกกันตามลักษณะ

KABUTO ( คาบุโตะ ) ลักษณะ : จะมีลวดลายขาวประปราย กระจายทั่ว ดอทต้นขนาดเล็ก เรียงตามเส้นพู ของต้น

• SUPER KABUTO ( ซูเปอร์คาบุโตะ) ลักษณะ : มีลายสีขาวหนา แน่น กว่าคาบุโตะปกติ ปื้นสีขาวมีลายหนา แปลกตา

• V-TYPE ( วีไทป์ ) ลักษณะ : มีลายสีขาวเป็นรูปตัวอักษรวี (V) เรียงไล่ตามดอท ตามแนวของพู หากต้นไม่มีลวดลาย เป็นสีเขียวและมีเพียงลายวี สีขาว จะเรียกว่า วีนูดัม ( V-Nudum )

• NUDUM ( นูดัม ) ลักษณะ : ผิวของต้นจะเกลี้ยงเขียว ไม่มีลาย หรือจุดสีขาวบนต้นเลย มีเพียงดอทปุย

• HANAZONO ( ฮานะโซโนะ ) ลักษณะ : มีดอทปุยเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วต้น มีลวดลายต่างๆ ไม่ซ้ำกัน ซึ่งดอทที่กระจายอยู่นี้ทำให้สร้างตาดอกได้หลายตำแหน่งมากกว่าปกติ จึงเป็นแอสโตรที่มีตำแหน่งการออกดอกได้ทั่วต้น ต่างกับแอสโตรปกติที่จะออกดอกที่ตุ่มหนามปลายยอดของต้น

• RENSEI ( เรนเซ ) ลักษณะ : ดอทปุย ตุ่มขน เรียงชิดติดกันมีลักษณะคล้าย “สร้อย” โดยปกติหากเป็น KABUTO ทั่วไป ดอทจะไม่เรียงชิดติดกัน จะมีระยะห่างระหว่างดอท

• OOIBO ( โออิโบะ ) ลักษณะ : ดอทปุย ตุ่มหนาม มีขนาดใหญ่กว่าปกติมาก และถ้าเป็นดอทที่ใหญ่กว่าปกติ และเรียงชิดกันเป็นสร้อย ก็จะเรียกว่า OOIBO RENSEI ( โออิโบะ เรนเซ )

• KIKKO ( กิ๊กโกะ ) ลักษณะ : ตุ่มหนามเป็นบั้ง และหยักเว้าเป็นร่องลึก และกว้างต่างกันไป มีลักษณะของสันพูที่แบ่งกันระหว่างแต่ละตุ่มหนาม คล้ายกับกระดองเต่า

• EKUBO ( คุโบะ ) ลักษณะ : มีรอยขีดสั้นๆ ขวาง ระหว่างพู หรือใต้ดอทหนาม เรียงตามพูคล้าย “ลักยิ้ม”

• FUKURYU ( ฟุคุริว ) ลักษณะ : ผิวยับย่น ขึ้นเป็นริ้วหยัก ซ้อนกันไป

• FUKURYO ( ฟุคุเรียว ) ลักษณะ : มีพูแทรกจากปกติ หรือพูเล็กๆ เหมือนติ่ง แทรกอยู่ในระหว่างพูใหญ่ปกติ

SNOW ( สโนว์ ) ลักษณะ : มีลาย หรือขนสีขาวขนาดติดกันเป็นปื้นใหญ่ จำนวนมากปกคลุมผิวของต้นแทนจะมองไม่เห็นสีเขียวของต้น

• STAR SHAPE ( สตาร์ เชฟ ) ลักษณะ : ลำต้นจะไม่กลมเหมือนแอสโตรทั่วไป จะมีความเว้าลึกระหว่างพู ที่เว้าไปจนถึงโคนต้น หากวางต้นหงายขึ้นจะเห็นรองระหว่างพูที่เว้าชัดเจน มองจากด้านบนลักษณะเหมือนดาว ต่างกับแอสโตรปกติที่เป็นลักษณะกลม

ส่วนที่เป็นแอสโตรไฟตัม ที่มีหนาม ได้แก่ แคปริคอร์น ( A.capricorne ), ออร์นาตัม ( A.arnatum ) เมื่อต้นยืนอายุมากต้นจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ลักษณะของดอก

ดอกมีเรื่อยๆ ในทุกฤดู แต่จะมากในฤดูร้อน ที่เหมาะเป็นการผสมพันธุ์ ดอกบานในช่วงเที่ยง-บ่าย และหุบตอนเย็น ดอกบาน 1-3 วันก็จะโรย เมื่อมีการผสมเกสรติดดอกจะปิดทันที มีดอกเป็นสีเหลืองส่วนใหญ่ แต่จะมีพบเป็นสีชมพู หรือชมพูโทนแดงได้ด้วย แต่จะค่อนข้างหายากกว่าสีเหลือง และจะมีชื่อเรียก ดอกสีชมพูโทนแดงว่า AKABANA ( อคาบานะ ) กลีบดอกปกติ จะยาวกว้าง ปลาย ขอบกลีบดอกเรียบ หากมีหยักหรือริ้ว จะเรียกว่า ดอกขนนก ซึ่งจะหาได้ยาก ดอกที่มีลักษณะแปลก และพบได้ยากอีกแบบคือ ดอกชินโชวะ ( Shinshowa ) ลักษณะของกลีบดอกจะเล็กเรียวเป็นเส้นฝอย

การขยายพันธุ์

ผสมเกสร ติดฝัก นำไปเพาะเมล็ด เป็นการผสมข้ามต้น และสามารถผสมข้ามชนิดกันได้ที่เป็นสกุลเดียวกัน เช่น แอสทีเรีย ผสมกับ ไมริโอสตริกมา ก็จะได้มาเป็นลูกผสม ที่มีลักษณะเด่นของทั้ง 2 ออกมาในรุ่นลูก ลูกผสมจะเรียกกันว่า Hybird (ไฮปริด)

สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

แอสโตร เป็นไม้ที่ค่อนข้างชอบชื้นกว่า กระบองเพชรทั่วไป ไม่ชอบแดดแรง หากเลี้ยงแดดจัดจะทำให้ผิวไหม้ง่าย หรือไม่เป็นสีเขียวใส เว้นแต่ในต้นที่มีลายขาวปกคลุมมาก หรือสโนว์ ที่จะทนแดดได้ดีกว่าไม้ที่มีผิวเขียวเยอะ ฉะนั้นการเลี้ยงจึงควรพลางแสง ด้วยสแลน หรือเป็นแดด 60-70% จะทำให้ไม้มีผิวที่สวยไม่กร้านแดด

ดินโปรงชื้น แต่ไม่แฉะ ดินไม่ชุ่มน้ำนาน ระบายความชื้นได้ดี รดน้ำเมื่อดินแห้ง ช่วงหน้าฝนต้องระวังไม่ให้ดินมีความชื้นมากเพราะจะเกิดคราบน้ำโคนต้น หรือโรคที่เกิดจากแบคทีเรียบางอย่างได้ เมื่อเกิดรอยแผลแล้วจะเป็นแผลตลอดรักษาไม่หาย นอกจากรอให้ต้นโต และผิวไล่ลงโคนต้น และเมื่อถึงระยะเปลี่ยนดิน หรือต้นโตคับกระถางควรเปลี่ยนดิน ขยายขนาดกระถาง เพื่อให้ต้นไม่ชะงักการโต หากปล่อยไว้นาน รากแน่น ความชื้นไม่พอจะทำให้โคนต้นยุบได้ง่าย และหากรากไม่มีการกระตุ้น หรืออ่อนแอ จะโดนโรค หรือศัตรูพืช รุ่มเร้าได้ง่าย

โรค และศัตรูพืชที่พบบ่อย

เพลี้ยแป้ง กัดกินราก และต้น, เพลี้ยญี่ปุ่น กินยอด , เพลี้ยหอย เกาะต้น, แคงเกอร์ เกาะ กัดกินผิว, หนู ที่ค่อยกัดกินต้น และกินฝักเมื่อผสมเกสรติด