มือใหม่ เริ่มสนใจปลูก กระบองเพชร (แคคตัส) ไม้อวบน้ำ ต้องเริ่มยังไง??


สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ในการเริ่มปลูก กระบองเพชร คือ การเริ่มเรียนรู้ในสกุล และชนิด ของกระบองเพชร กระบองเพชรนั้นมีหลายสกุล ในแต่ละสกุล มีแตกแยกย่อยไปอีกหลายชนิด การเลี้ยงดูนั้นมีความยาก และง่าย ยังมีต่างกันไปอีกด้วย

ดังนั้นหากจะเริ่มเลี้ยงควรเลือกที่เลี้ยงดูได้ง่ายๆ ซึ่งสกุลที่เลี้ยง และดูแลได้ง่ายๆ อาทิเช่น ยิมโนคาไลเซียม ( Gymnocalycium ) อิชินอปซิส ( Echinopsis ) โอพันเทีย ( opuntia ) แมมมิลลาเรีย ( mammillaria ) บางชนิด

ลำดับต่อมาคือการให้น้ำ สภาพแวดล้อม และวัสดุปลูก ด้วยกระบองเพชรไม่ใช่ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในบ้านเรา ฉะนั้น ดิน สภาพแวดล้อม ก็ควรจะให้ใกล้เคียงกับถิ่นกำเนิดของกระบองเพชร ที่เป็นที่แห้งแล้ง ความชื้นไม่มาก แสงแดดเพียงพอตลอดทั้งวัน ดินที่ใช้ปลูกไม่อุ้มน้ำมาก น้ำไม่ขัง

ลักษณะโดยพื้นฐานของกระบองเพชร ตัวต้นจะมีหลากหลายลักษณะตามสายพันธุ์ ต้นเป็นฟอร์ม ตอสูง กลมแตกหน่อเป็นพุ่ม หรือเป็นหัวเดียว มีทั้งมีหนาม และไม่มีหนาม ลักษณะของหนาม มีทั้งเป็นหนามแข็งแหลม คม และขนหนามแบบอ่อนนุ่ม ลักษณะของราก ทั้งที่รากเป็นฝอย หรือมีลักษณะเป็นโขด

มีดอกเพื่อใช้ในการสืบพันธุ์ แต่ละสกุลจะให้ดอกยากง่ายแตกต่างกัน สีของดอกมีทั้ง ขาว ชมพู แดง ส้ม เหลือง ม่วง แล้วแต่สกุล ส่วนใหญ่ดอกบานในตอนกลางวัน ช่วงเที่ยง-บ่าย และหุบในตอนกลางคืน และมีบางสกุลดอกบานในตอนกลางคืน และโรยในตอนเที่ยง

การขยายพันธุ์ คือ การผสมเกสรจนติดฝัก และนำไปเพาะเมล็ด แต่จะมีบางสกุล ที่สามารถชำหน่อได้

อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้ควบคู่ไปกับการเลี้ยงคือ โรค และอาการป่วย โดยหลักๆ โรคและอาการป่วยของกระบองเพชรนั้น เกิดได้จาก 2 ปัจจัยคือ สภาพแวดล้อม และแมลง ศัตรูพืช ที่พบบ่อย อาทิเช่น ไร, เพลี้ย, รา ในการรักษาก็มีหลายวิธี โดยจะมีตัวยาที่เป็นสารเคมี หรือจุลินทรีย์ที่นำมาใช้แตกต่างกันไป

ลิงค์ที่เกี่ยวข้องกับบทความ

• วัสดุที่นิยมใช้ปลูกกระบองเพชร >> คลิก <<

• การรดน้ำ ให้น้ำ กระบองเพชร >> คลิก <<

• แสงแดด สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเลี้ยงกระบองเพชร >> คลิก <<

กระบองเพชร สกุล แมมมิลลาเรีย (Mammillaria ) การเลี้ยง และดูแล


ลักษณะของต้น

เป็นสกุลกระบองเพชรที่มีความหลากหลายของลักษณะ มีทั้งชนิดที่มีหนามแหลม และเป็นขนหนามอ่อนนุ่ม ลักษณะ โครงสร้าง ลำต้น มีเนื้อแกนกลาง แตกออกเป็นตุ่ม และมีหนาม หรือขนหนาม ที่ปลายตุ่ม ขนหมามมีทั้งสีขาว สีเหลืองทอง หรือออกโทนแดง แล้วแต่ชนิดของต้น ซึ่งตุ่มหนามแมมมิลลาเรียบางชนิด สามารถนำมาชำเพื่อขยายพันธุ์ได้ เช่น แมมขนนก

ช่องว่างระหว่างตุ่มหนาม โดยส่วนมากจะมีเป็นปุยขาวลักษณะคล้ายปุยนุ่นสำลีแทรกอยู่ ด้วยลักษณะของแมมมิลลาเรียที่ลำต้นมีเนื้อเยื้อแกนกลางลำต้นค่อนข้างน้อย และอ่อนนุ่ม ธรรมชาติของต้นจึงสร้างปุยขึ้นมาเพื่อปกป้องไม่ให้แกนลำต้นโดนแสงแดดมากเกินพอดี เมื่อเจริญเติบโตอายุมากจะแตกหน่อเป็นกอใหญ่ขยายขึ้นเรื่อยๆ

ลักษณะของดอก

แมมมิลลาเรีย สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นและสารอาหารที่เพียงพอ แต่ฤดูที่มีดอกเยอะ เหมาะกับการขยายพันธุ์ที่สุดคือ ฤดูหนาว ลักษณะการออกดอกจะออกเป็นวงรอบ ต้นหรือหน่อครอบคล้ายลักษณะของมงกุฎ สีของดอกที่พบได้บ่อยคือ ขาว และชมพู ม่วง มีโทนออกแดงเข้มบ้าง แต่จะพบได้น้อยกว่า ดอกจะบานในช่วงตอน สายๆจนถึงเย็น และหุบ ระยะเวลาออกดอก 2-3 วัน ก็จะโรย

การขยายพันธุ์

เพาะเมล็ด ชำหน่อ ปาดยอดให้แตกกอ หรือ ออกหน่อเพิ่ม และมีในบางชนิดสามารถติดฝักได้เองโดยไม่ต้องผสม เช่น แมมพิกุล แมมนิโวซา ซึ่งสกุลแมมมิลลาเรีย จะมีไม้ที่เป็นลูกผสม หรือ ไฮปริด ( Hybrid ) ค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นไม้ที่ได้จากการผสมข้ามชนิด จึงทำให้มีความหลากหลายในลักษณะของขนหนาม โดยลูกที่ออกมานั้น จะมีลักษณะเด่นของทั้ง 2 ชนิดผสมกัน

สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

แมมมิลลาเรียเป็นไม้ที่ชอบแดดค่อนข้างจัด 70-80 % ชั่วโมงแดดยาวนานต่อเนื่อง 6-8 ชั่วโมง หากเลี้ยงแสงแดดน้อยขนหนามจะกางออก เพื่อพยายามรับแสงมากขึ้น ที่ทำให้ขนหนามไม่แน่นฟู ฟอร์มต้นจะไม่กระชับ ต้นไม่สวยลำต้นยืดยาว ไม่กลมมน

เป็นกระบองเพชรที่ไม่ชอบความชื้นเยอะ ดินที่ใช้ปลูก ต้องโปร่ง ระบายความชื้น และอากาศภายในดินถ่ายเทได้ดี หากมีความชื้นสูงแต่เสี่ยงกับโรคเน่า หรือเชื้อราได้ สามารถเว้นระยะการรดน้ำได้นานกว่ากระบองเพชรชนิดอื่นๆ วิธีการดน้ำ คือให้รดจนชุ่มจนน้ำไหลออกรูก้นกระถาง รดน้ำครั้งถัดไปเมื่อดินแห้ง

และถ้าหากต้องการกระตุ้นการออกดอกจะใช้วิธีอดน้ำ เพื่อกระตุ้นสภาพการอยู่รอด จะช่วยให้กระตุ้นการออกดอก เพื่อขยายเผ่าพันธุ์ โดยการอดน้ำนานกว่าปกติที่เคยรด แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ซึ่งต้องดูระยะการอดน้ำ และปรับตามสภาพแวดล้อมของแต่สถานที่เลี้ยง ซึ่งจะไม่การนับวัน หรือสูตรที่ตายตัว ซึ่งการใช้การกระตุ้นด้วยวิธีควรดูว่าต้นไม้แข็งแรง ไม่อยู่ในช่วงป่วย หรือพักฟื้น

อีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้เลี้ยงแมมมิลลาเรียได้สวยก็คือควรจะมีโรงเรือน จะเป็นระบบเปิด หรือปิดก็ได้ แต่หากเลี้ยงเป็นระบบปิดควรจะมีระบบระบายอากาศภายในเพื่อป้องกันความชื้น หรืออากาศอบอ้าวภายในโรงเรือน ที่จะเป็นสาเหตุ ให้เน่าง่ายได้เหมือนกัน เนื่องจากแมมมิลลาเรียไม่เหมาะกับการเลี้ยงที่โดนฝนโดยตรง เพราะมีโอกาสที่จะทำให้ต้นเน่าหรือเชื้อราได้ง่าย ฉะนั้นการมีโรงเรือนจะทำให้การควบคุม อุณหภูมิ น้ำ และปรับแสงง่ายต่อการเลี้ยงดู

ลักษณะของดอก
โรค และศัตรูพืช

เพลี้ย, ไรแดง, ราที่เกิดจากความชื้นในช่วงฤดูฝน

บทความที่เกี่ยวข้องผสมเกสรแมมมิลลาเรีย (MAMMILLARIA) ง่ายๆ ให้ติด ฝัก นำไปเพาะเมล็ดด้วย ปลายพู่กัน >>คลิก<<